กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ปีงบประมาณ 68 ส่งเสริม113 โครงการ มุ่งต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์
วธ. แถลงข่าวโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 113 โครงการ รวมกว่า 44 ล้านบาท มุ่งเน้นต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ยกระดับคุณค่าทางสังคม ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power
นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในงานแถลงข่าวโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย ผู้ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ศิลปิน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน
นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยศิลปะร่วมสมัยของไทยเป็น Soft Power ที่มีส่วนในการส่งเสริมสถานะและบทบาทของประเทศไทยในประชาคมโลก กระทรวงวัฒนธรรมจึงมุ่งขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power เพื่อยกระดับและพัฒนาความรู้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยในการสร้างมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับสินค้าและบริการบนพื้นฐานของทุนทางสังคมและวัฒนธรรม อีกทั้งเสริมพลังสร้างสรรค์ให้ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมและสังคมด้วยการสนับสนุนทุนและการเข้าถึงแหล่งทุนให้แก่ศิลปิน เครือข่าย และผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาต่อยอดศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น
“ที่ผ่านมากองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยได้บูรณาการความร่วมมือเชิงรุกในการพัฒนางานศิลปะร่วมสมัยในทุกระดับ รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนและเผยแพร่กิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอด ในวันนี้จึงขอแสดงความยินดีต่อผู้ได้ทุนสนับสนุนทุกท่าน ทุกหน่วยงาน และนับเป็นอีกครั้งที่จะเราทุกคนจะได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยไทย สร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปิน เปิดโอกาสให้ศิลปินไทย ทั่วประเทศ ทั้งศิลปินรุ่นใหม่ และศิลปินในท้องถิ่น โดยเฉพาะในระดับชุมชน ได้พัฒนาตัวเอง ในด้านศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งผู้รักงานศิลปะได้พัฒนาต่อยอดผลงานเพื่อเป็น Soft Power ที่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำ Soft Power ของโลกต่อไปได้ในอนาคต” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมกล่าว
ด้าน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย กล่าวว่ากองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของศิลปินและองค์กรทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและดำเนินงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2568 ได้ให้การส่งเสริมโครงการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 275 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 87 ล้านบาท สำหรับในปี พ.ศ. 2568 มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยรอบแรก รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 44,900,000 บาท จำนวน 113 โครงการ ครอบคลุม 8 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 33 โครงการ สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 30 โครงการ สาขาดนตรี จำนวน 20 โครงการ สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 11 โครงการ สาขาสถาปัตยกรรม จำนวน 4 โครงการ สาขาเรขศิลป์ จำนวน 4 โครงการ สาขาภาพยนตร์ จำนวน 8 โครงการ และสาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย จำนวน 3 โครงการ ซึ่งทุกโครงการที่ได้รับการส่งเสริมก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายทั้งในระดับท้องถิ่น ชุมชน ประเทศ และในระดับสากล โดยพัฒนารูปแบบกิจกรรมโดยต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในรูปแบบการบูรณาการเชิงรุกผ่านระบบนิเวศศิลปะ ที่สามารถยกระดับคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล โดยในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย และเครือข่ายทุกภาคส่วน จะได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ด้านศิลปะร่วมสมัย ทักษะความรู้ ประสบการณ์ และร่วมกันส่งเสริม ผลักดันให้ศิลปะร่วมสมัยของไทยกลายเป็น Soft Power ที่มีบทบาทและได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
“นอกเหนือจากการให้ทุนสนับสนุนแล้ว กองทุนฯ ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพิ่มขึ้นอีก 1 หน่วยงาน โดยในปี 2568 จะมีภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยร่วมกับกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ทั้งสิ้น 4 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กลุ่ม Chat Lab และ ธนาคาร ยูโอบี จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มีการจัดนิทรรศการการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 15 (The 15th UOB Painting of the Year) ณ พื้นที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับการจัดแสดงผลงานของผู้ที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึง 18 มกราคม 2568 จึงขอเชิญชวนผู้สนใจมาเยี่ยมชมผลงานและถือเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วย โดยการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายนี้จะช่วยให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในระบบนิเวศศิลปะให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ในรูปแบบเชิงรุกผ่านระบบนิเวศศิลปะ ตลอดจนเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมทางด้านศิลปะร่วมสมัย ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมถึงสามารถยกระดับคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับนานาชาติได้ต่อไป” ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยกล่าว
ขณะที่ นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่กิจการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อเพิ่มพูนพัฒนาภูมิปัญญาและการประยุกต์ใช้ในสังคม โดยมีกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยเป็นแหล่งทุนอุดหนุนที่ให้การส่งเสริมโครงการด้านศิลปะร่วมสมัย ใน 9 สาขา แก่ผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2568 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ให้การสนับสนุนพื้นที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินในการจัดกิจกรรมภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยการนำผลงานของผู้ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปี พ.ศ. 2567 มาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2568
“ขอเชิญชวนมาเยี่ยมชมผลงานของผู้ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปี พ.ศ. 2567 ที่จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 18 มกราคม เพราะสิ่งที่จัดแสดงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของผลงานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงความรู้ความสามารถ และการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดผลงานเชิงสร้างสรรค์ผ่านการสนับสนุนของกองทุนฯ ทั้ง 4 แนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ การส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อสร้างนิเวศศิลปะ และยกระดับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ การสร้างความร่วมมือเครือข่ายเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของแต่ละท้องถิ่น และการส่งเสริมสนับสนุน เผยแพร่ผลงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยทั้งในและต่างประเทศ โดยทั้งหมดนี้เป็นการสนับสนุน เสริมสร้างความร่วมมือเครือข่ายในการสร้างผลงานที่มีคุณค่า สู่การเผยแพร่ แลกเปลี่ยน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนได้ต่อไป” รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกล่าวย้ำ