อนุมัติต่างด้าวลงทุน 34 ราย
งบ 500ล้านบ.จ้างงาน400คน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เผย คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 34 ราย นำเงินเข้ามาลงทุนเฉียด 500 ล้านบาทที่ 479 ล้านบาท และมีการจ้างงานคนไทยจำนวนมากกว่า 400 คน มีการลงทุนในธุรกิจที่ได้อนุญาตประเภท ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมากสุดคิดเป็น 44% 15 ราย เงินลงทุนจำนวน 140 ล้านบาท
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2558 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 34 ราย ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ยื่นขออนุญาตครั้งแรกจำนวน 16 ราย ทั้งนี้การอนุญาตทำให้คนต่างด้าวต้องนำเงินเข้ามาลงทุนในการประกอบธุรกิจจำนวน 479 ล้านบาท และมีการจ้างงานคนไทยจำนวน 413 คน ซึ่งธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จำนวน 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 44 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 140 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการ บริการติดตั้ง ซ่อมแซม บำรุงรักษา และรับจ้างผลิต เป็นต้น เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์
2. ธุรกิจสำนักงานผู้แทน จำนวน 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 24 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจการลงทุนให้สำนักงานใหญ่รองลงมาเป็นการให้คำแนะนำและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของสำนักงานใหญ่และบริษัทในเครือ เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฝรั่งเศส และสาธารณรัฐประชาชนจีน
3. ธุรกิจที่เป็นคู่สัญญา/คู่สัญญาช่วงกับรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 253 ล้านบาท ได้แก่ บริการจัดหา ออกแบบ ติดตั้งและทดสอบ ระบบสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติ ระบบป้องกันกระแสไฟฟ้า และระบบรางไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้า ให้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นคนต่างด้าวจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์
4. ธุรกิจค้าส่ง จำนวน 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 25 ล้านบาท ได้แก่ การค้าส่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องมือแพทย์ เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ โปแลนด์ และแคนนาดา
5. ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 37 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องจักร อุปกรณ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และการค้าปลีกเครื่องรูดบัตรเครดิตและบัตรเดบิต เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น และมาเลเซีย
ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 26 ในขณะที่เงินลงทุนลดลง 710 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจำนวน 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 และเงินลงทุนลดลง 896 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65
อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 (มกราคม-พฤศจิกายน 2558) คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วจำนวน 370 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 13,488 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 15 ราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 4 และเงินลงทุนลดลง 48,028 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 78 เนื่องจาก ในปี 2557 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจบริการทางการเงินอื่นซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง