“พญาสัตบรรณ” หรือ “ตีนเป็ด”
ไม้มงคลสรรพคุณแก้ไข้-สู้มะเร็ง
คนส่วนใหญ่เรียกว่า ต้นตีนเป็ด เริ่มออกดอกตั้งแต่ต้นฤดูหนาวประมาณเดือนตุลาคม-มกราคม ถ้าออกดอกน้อยจะมีกลิ่นหอม แต่ถ้าออกดอกมากและดอกบานสะพรั่งเต็มที่จะมีกลิ่นฉุนจัดจนแสบจมูก รู้สึกวิงเวียนศรีษะ ท้องเดิน โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน ดอกจะส่งกลิ่นฉุนออกมามากเป็นพิเศษ มีวิธีแก้ไขโดยใช้วิธีการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้แตกกิ่งใบใหม่ พญาสัตบรรณก็จะออกดอกได้น้อยหรือออกดอกไม่ทันตามช่วงฤดูกาลปกตินอกจากนี้ หากมีการตัดแต่งกิ่งเป็นประจำทุกปี ต้นพญาสัตบรรณก็จะสวยงาม ดูแลง่าย ไม่สูงเทอะทะ และไม่ส่งกลิ่นเหม็นฉุนรบกวนอีกต่อไป
คุสาปีนะห์ แมงสาโมง ผู้ประสานงานชุมชนภาคใต้ของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล่าว่า ต้นตีนเป็ดมีชื่อในภาษามลายูว่า “ปูลา” พ่อหมอที่นั่นบอกว่า มีสรรพคุณบำรุงน้ำนมให้ผู้หญิงหลังคลอด โดยชาวบ้านจะนำใบปูลาหรือตีนเป็ด หนึ่งกำมือแล้วตัดหัวตัดท้าย มาตำคั้นน้ำให้ผู้หญิงใกล้คลอดดื่ม ช่วยให้คลอดง่ายขึ้นและเพิ่มน้ำนม บางตำรับนำมาผสมกับสมุนไพรบำรุงน้ำนมตัวอื่นๆ หรือนำใบตำผสมกับจมูกข้าวและขมิ้น คั้นน้ำดื่มบำรุงน้ำนมในผู้หญิงหลังคลอด นอกจากนี้หมอยาในพื้นที่จังหวัดยะลา ยังมีการนำใบและยางของต้นตีนเป็ดมาใช้รักษาโรคผิวหนัง
พญาสัตบรรณ ถือเป็นพืชสมุนไพรที่เก่าแก่ในอินเดีย และเอเชียตะวันออกเชียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในประเทศเหล่านี้ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพญาสัตบรรณที่สนับสนุนการใช้ของหมอยาพื้นบ้าน เช่น มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ต้านเชื้อบิด เพิ่มภูมิคุ้มกัน เสริมการฆ่าเซลล์มะเร็งของยา Cyclophosphamide ต้านมะเร็ง ต้านเนื้องอก ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ แก้ไอ ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต เป็นต้น
มาดูตำรับยาจากสมุนไพรชนิดนี้กันว่า สามารถทำยารักษาอาการเจ็บป่วยได้หลากหลายทีเดียว
ยาบำรุงร่างกาย ใช้แก่นพญาสัตบรรณต้มรับประทาน
ยาแก้ผอมแห้ง คนที่ผอมแห้งให้นำเปลือกรากต้มอาบ
ยาแก้ปวดหัว ใช้รากพญาสัตบรรณต้มรับประทาน
ยาขับปัสสาวะ ใช้ย่านลิเภาทั้งห้า เปลือกต้นพญาสัตบรรณ ใบบัวบก ต้มรับประทาน
ยาแก้ไอ ใช้ใบพญาสัตบรรณตากแห้งทำผง พริกไทยตำผง ผสมน้ำผึ้งทำลูกกลอน กินแก้ไอ หอบหืด