ดร.พิเชฐชวนญี่ปุ่นลงทุนไทย
“ฟู๊ดอินโนโพลิสต์”ทำเลดีรัฐหนุน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนนักธุรกิจญี่ปุ่น ลงทุนในไทย ยกฟู๊ดอินโนโพลิส ไฮไลต์ ชี้ได้เปรียบทั้งทำเล ที่ตั้ง วัตถุดิบ และมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การมีศูนย์วิจัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และศูนย์พัฒนาวิศวกรและช่างเทคนิค
ในการเดินทางเยือนญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายน ของดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 ดร.พิเชฐ พร้อมด้วย รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจจากประเทศไทย ประกอบด้วย ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางกอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้ร่วมอภิปราย ถึงนโยบายสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่น ณ โรงแรมนิวโอตานิ กรุงโตเกียว โดยมีนักธุรกิจเข้าร่วมรับฟังประมาณ 1,000 คน เพื่อเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยและส่งเสริมความร่วมมือในด้านอื่น ๆ
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันออกมาตรการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะครอบคลุมถึงประเทศในกลุ่ม CLMV ด้วย ตัวอย่างมาตรการต่าง ๆ เช่น 1. โครงการฟู๊ดอินโนโพลีส ( foodinnopolis) ซึ่งจะใช้ข้อได้เปรียบของไทยในด้านทำเลที่ตั้งและวัตถุดิบ โดยเน้นกลุ่มสุขภาพ อาหารฟังก์ชั่น และโภชณเภสัชภัณฑ์ (functional food) ผัก ผลไม้ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะครอบคลุมการให้บริการห้องปฏิบัติการ และบุคลากรวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย
2. การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม เช่น มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดสรรพื้นที่ให้เอกชนมาร่วมวิจัย
3. การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ร่วมกัน เช่น การพัฒนาวิศวกรด้านยานยนต์ร่วมกัน ศูนย์ทดสอบยานยนต์ การพัฒนาบัณฑิต 4. การแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น วีซ่า และ 5. กองทุนเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการใหม่
นอกจากนี้รมว.วิทยาศาสตร์ ยังได้เข้าพบรัฐมนตรีด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นางไอโกะ ชิมจิริ ด้วย ซึ่งได้ใช้โอกาสดังกล่าวพูดคุยถึงแนวทางความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โปรแกรมด้านอวกาศ และการจัดทำนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.)
ส่วนการเข้าพบนายฮิโรชิ ฮาเซะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬาและวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น ได้มีการหารือถึงศูนย์วิจัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และศูนย์พัฒนาวิศวกรและช่างเทคนิค