ซินโครตรอน เยือนสวิสศึกษา
“เครื่องโปรตอนรักษามะเร็ง”
สถาบันวิจัยแสง ซินโครตรอน เยือนสถาบัน PSI สวิตเซอร์แลนด์ ศึกษานวัตกรรมใหม่เครื่องโปรตอนรักษามะเร็ง ออกแบบโดยทีมนักวิจัยสหวิชาทั้งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และนักฟิสิกส์การแพทย์ สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้หมดถึงระดับความลึก 23 เซนติเมตร เวลานี้กำลังพัฒนาการคำนวณเพื่อบอกตำแหน่งเนื้อร้ายเพื่อการยิงลำแสงกำจัดอย่างแม่นยำ คาดหวังอนาคตอาจนำเทคโนโลยีดังกล่าวปรับใช้กับเครื่องเร่งบำบัดมะเร็ง ฝีมือคนไทย
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถาบันฯ ได้นำนักฟิสิกส์ศึกษาดูงาน ณ Center for Photon Therapy ภายใต้การดูแลของ Paul Scherrer Institute (PSI) สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้เครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง (LINAC) ในทางการแพทย์ โดยสถาบัน PSI ได้จัดการบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะของสถาบันฯ
มีการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญ Prof. Dr. Tony Lomax, Head of Medical Physics, และ Prof. Dr. Jacobus Maarten Schippers, Head of Section Medical Cyclotron and Beam Lines ซึ่งได้ให้ความรู้ในการเร่งอนุภาคบวก เช่น โปรตอน ที่ถูกเร่งโดย LINAC ลำเลียงผ่านท่อสุญญากาศหลักแยกออกเป็นสามสถานีย่อยสำหรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ซึ่งสถานีดังกล่าวถูกออกแบบโดยทีมนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และนักฟิสิกส์การแพทย์ โดยมีหลักการทำงานคือ ลำอนุภาคโปรตอนจะถูกฉายไปยังผู้ป่วยด้วยปริมาณความเข้มที่ต่างกันขึ้นอยู่กับความหนาแน่น รูปร่างลักษณะของก้อนเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ (tumor) ซึ่งอาจจะเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง เพื่อทำลายเซลล์ที่ผิดปกติเหล่านั้น จะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้จนหมดถึงระดับความลึก 23 เซนติเมตร
“ขณะนี้ทาง PSI ได้มีการพัฒนาการคำนวณสำหรับบอกตำแหน่งเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายที่มีการเคลื่อนที่ในแนวดิ่งตลอดเวลา สัมพันธ์กับอัตราการหายใจให้มีความแม่นยำมากขึ้น เพื่อจะได้ส่งผ่านลำโปรตอนมายังเนื้องอกได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพ ในการส่งลำโปรตอนมายังเนื้องอกนั้นจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า Pencil Beam Scan หรือ Spot Scanning จากความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการใช้รังสีโปรตรอนรักษามะเร็ง (Photon Therapy) ดังกล่าวนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องเร่งบำบัดมะเร็งที่จะพัฒนาโดยฝีมือคนไทยต่อไปในอนาคต” ผู้อำนวยการ กล่าวทิ้งท้าย