ประชุมร่วมมือวทน.ไทย-ลาว
พัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม2ชาติ
กระทรวงวิทย์ฯไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (JC) ไทย-ลาว ครั้งที่ 1 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตของประชาชน 2 ชาติ คณะทำงาน( Working Group)ของทั้งสองฝ่ายจะทำงานใกล้ชิด ผลักดัน 5 ด้านคือ พัฒนาบุคลากร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา สร้างความตระหนัก และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
คณะกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งราชอาณาจักรไทย นำโดย รศ.ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (JC) ไทย-ลาว ครั้งที่ 1 โดยมี ดร. คำมั่น จันทะรังสี รองเจ้าแขวงหลวงพระบาง นายมะลัยทอง กมมะสิทธิ์ อธิบดีกรมแผนการและร่วมมือ และคณะผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ให้การต้อนรับและเข้าร่วมหารือทบทวนความร่วมมือและหารือแผนงานที่จะทำร่วมกันต่อไป รวมทั้งแนวทางการแก้ไขอุปสรรค ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้งสองประเทศมีความกว้างขวาง ครอบคลุมกิจกรรม สาขาอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตของประชาชนไทย-ลาว
ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (JC) ไทย-ลาว ครั้งที่ 1 เป็นการประชุม JC ครั้งแรกที่จัดขึ้น ภายหลังที่ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและสปป.ลาว เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ทำให้ฝ่ายไทยและลาว มีการดำเนินกิจกรรมการร่วมมือเพิ่มมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การศึกษาดูงาน การฝึกอบรม การประชุม/สัมมนา ในหลายด้าน
และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา หน่วยงานทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือในระดับ Working Group ใน 7 กลุ่มด้วยกัน คือ 1) การจัดการทรัพยากรน้ำ 2) มาตรวิทยาและการมาตรฐาน 3) พลังงานหมุนเวียนและการเกษตร 4) เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 5) การสร้างความตระหนักและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ 6) ดาราศาสตร์ และ 7) เทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยในแต่ละกลุ่ม ก็มีการหารือสถานะปัจจุบันและแผนงานที่จะทำงานร่วมกันต่อไป ใน 5 ประเด็นด้วยกันคือ 1. การพัฒนาบุคลากร 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3. การวิจัยและพัฒนา 4. การสร้างความตระหนัก และ 5. การถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็มีความก้าวหน้าและมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นที่น่าพอใจ ภายหลังจากการประชุม JC แล้ว คณะทำงานของทั้งสองฝ่าย จะได้มีการประสานงาน/ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนงานมีผลที่เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น และฝ่ายไทยยินดีต้อนรับคณะผู้แทน สปป.ลาว ในการเดินทางไปร่วมประชุม JC ครั้งที่ 2 และการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 7 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2559 ต่อไป
ด้านนายมะลัยทอง อธิบดีกรมแผนการและร่วมมือ สปป.ลาว กล่าวว่า จากการประชุมที่ผ่านมาทั้ง 2 วัน แสดงให้เห็นแล้วว่าความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างไทย-ลาว มีความก้าวหน้าและมีแผนงานที่ชัดเจนมากขึ้น อาทิ ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ มีการลงนามความร่วมมือการดำเนินโครงการระหว่างปี 2559-2561 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สารสนเทศทรัพยากรน้ำ และติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ จำนวน 2 สถานี ณ บ้านใหญ่นาเจริญ ด้านมาตรวิทยาและการมาตรฐาน มีการพัฒนาระบบงานห้องปฏิบัติการ ของ สปป.ลาว ให้มีการจัดทำเอกสารตามมาตรฐาน ISO/IEC 17011 และเตรียมพร้อมให้การรับรองระบบงานห้องปฏิบัติ การทดสอบ ด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ได้ประสานงานให้ผู้แทน สปป.ลาวเข้าร่วม Workshop on Cyber Security ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
ด้านการสร้างความตระหนักและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ดำเนินการจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ไทย-ลาว ครั้งที่ 2 พร้อมอบรมการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เช่น Science Lab. Science Show ด้านดาราศาสตร์ จัดค่ายอบรมดาราศาสตร์และอบรมการใช้กล้องโทรทัศน์ให้โรงเรียนใน สปป.ลาว และ ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พัฒนาความร่วมมือระดับทวิภาคีกับกรมวิทยาศาสตร์ สปป.ลาว