นักวิจัยมอ.ทุนศาสตราจารย์ผู้นำ
ค้นพัฒนาสารต้นแบบยาจากรา
สวทช.ประกาศผลผู้ได้รับทุน “NSTDA Chair Professor” หรือทุนศาสตราจารย์ที่เป็นผู้นำกลุ่ม แก่ ศ.ดร. วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง “การคนหาและพัฒนาสารตนแบบจากทรัพยากรราของไทยเพื่อความยั่งยืนในการคนหายา” รับทุนวิจัย 20 ล้านบาทจากมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นเวลา 5 ปี นักวิจัยตั้งเป้าพัฒนาสารต้นแบบจากรารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น มะเร็ง โรคไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูงและหาสารมีฤทธิ์ต้านโรคเชื้อราก่อโรคข้าวและยางพารา
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “สังคมเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างและต่อยอดองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงได้แสดงความสนใจและสานต่อจนเกิดเป็นโครงการทุน NSTDA Chair Professor มาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ต่อเนื่องเป็นทุนลำดับที่ 4 แล้ว (2552, 2554, 2556 และ 2558) ซึ่งจะให้การสนับสนุนปีละ 1 ทุน ระยะเวลารับทุนต่อเนื่อง 5 ปี โดยมูลนิธิฯ เป็นผู้ให้การสนับสนุนทุน 20 ล้านบาท และ สวทช. เป็นผู้บริหารจัดการ เพื่อสร้างศาสตราจารย์ที่เป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพสูง มีโอกาสทำงานวิจัยของตนเองให้เกิดประโยชน์มากขึ้น สร้างสรรค์งานได้โดยมีอิสระทางวิชาการ ผสมผสานกระบวนการจัดการวิจัยเชิงวิชาการเข้ากับกระบวนการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ประโยชน์ และก่อให้เกิดผลงานวิจัยที่มีความใหม่น่าสนใจกว่าเดิม กลยุทธ์ประเภทนี้เกิดผลดีอย่างมากต่อการพัฒนาในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง และอเมริกา เป็นต้น”
ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ สวทช. ได้ประกาศรับสมัครข้อเสนอโครงการวิจัย มีขอบเขตในด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรและอาหาร โดยมุ่งหวังจะเป็นการยกระดับความสามารถในการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ซึ่งทุกโครงการที่เสนอเข้ามาได้ผ่านการพิจารณาอย่างเข้มงวดจากผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการมาเป็นเวลานาน โดยเกณฑ์การคัดเลือกพิจารณาจากทั้งคุณสมบัติของหัวหน้าโครงการ ความสามารถทางวิชาการ ความเป็นผู้นำทีม การมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม การผลิตผลงานที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในภาคการผลิต บริการ และ/หรือภาคสังคมโดยรวม ความเป็นเลิศของคุณภาพทางวิชาการ และความคิดริเริ่มระดับนานาชาติ”
ทั้งนี้ในการพิจารณา คณะกรรมการร่วมทุน มีมติเห็นสมควรมอบทุนดังกล่าว แก่ ศ.ดร. วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในโครงการวิจัยเรื่อง “การคนหาและพัฒนาสารตนแบบจากทรัพยากรราของไทยเพื่อความยั่งยืนในการคนหายา” โดย ศ.ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล เป็นนักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่น มีผลงานซึ่งได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงจำนวนมากทางด้านเคมีอินทรีย์ เป็นผู้อุทิศตนให้กับงานวิจัยและสร้างผลงานด้านสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากเชื้อจุลินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ นอกจากท่านหัวหน้าโครงการซึ่งเป็นแกนหลักแล้ว ยังมีทีมนักวิจัยที่ล้วนมีความสามารถและประสบการณ์ในหัวข้อวิจัยที่เสนอขอรับทุนเป็นอย่างดี”
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย กล่าวว่า “จากผลการดำเนินงานของโครงการทุน NSTDA Chair Professor ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ามูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณทั้งหมดของโครงการฯ แต่ด้วยการบริหารจัดการที่ดีของ สวทช. จึงส่งผลให้การดำเนินงานของโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และขอแสดงความยินดีต่อ ศ.ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล หัวหน้าโครงการวิจัย และคณะผู้วิจัยทุกท่านที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุน NSTDA Chair Professor ประจำปี 2558 นี้ โอกาสนี้ ขอให้การดำเนินโครงการวิจัยประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ คือ การพัฒนาสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต้นแบบจากทรัพยากรราให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมยา และค้นหาสารใหม่ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพอื่นๆ รวมทั้งฤทธิ์ต่อต้านโรคเชื้อราก่อโรคข้าวและยางพารา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขและการเกษตรของประเทศ อีกทั้งหากพัฒนาต้นแบบยา หรือชีวภัณฑ์ทางการเกษตรได้สำเร็จจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในการลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศด้วย”
พร้อมนี้ ภายในงานยังมีการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการของทุน NSTDA Chair Professor ปี 2556 โดย ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการ “การวิจัยต่อยอดด้านโรคติดเชื้อชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังและโรคภูมิแพ้” และทุน NSTDA Chair Professor ปี 2554 โดย ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการ “การปรับปรุงพันธุ์เพื่อเร่งการปลูกเลี้ยงสบู่ดำพันธุ์ใหม่สำหรับเป็นพลังงานและอาหารสัตว์”