แนวโน้มเทคโนโลยีปี 2016
อินเทอร์เน็ต-พิมพ์3มิติยังแรง
ในรอบปี 2015 มีผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เปิดศักราชใหม่ 2016 หรือ “ปีวอก” มานี้ค่ายวิเคราะห์ในแวดวงเทคโนโลยีมักประเมินแนวโน้มของเทคโนโลยีที่กำลังจะมาหรือจะได้เห็นกัน ในที่นี้รวมถึง Gartner บริษัทวิจัยและให้คำแนะนำด้าน IT มีชื่อในสหรัฐอเมริกา และ IDC ในประเทศไทย ที่มองว่า จะมีเทคโนโลยีเด่นหลายอย่าง รวมถึงโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเราจะได้แนวคิด “Internet of Things” ชัดเจนขึ้น การพิมพ์ 3 มิติบูมขึ้น และเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์จะฉลาดขึ้น
มาดูกันว่า เทคโนโลยีเด่น ๆ ที่จะได้เห็นกันในปี “วอก” 2016 มีอะไรบ้าง
มาตรฐานเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตชัดขึ้น
โลกในปี 2016 ยังคงมีอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดแนวทางการทำงาน การใช้ชีวิต และการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และเทคโนโลยีและมาตรฐานสำหรับระบบ Internet of Things ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ จะถูกพัฒนาให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นทั้งการบริหารจัดการ การเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอื่น ๆ และการรักษาความปลอดภัย
การเชื่อมโยงของอุปกรณ์
นอกจากนี้แล้ว อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ประชาชนใช้งาน การเข้าถึงโปรแกรมต่าง ๆ เข้าถึงข้อมูลหรือเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ชุมชน รัฐบาลและภาคธุรกิจต่าง ๆ จะมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น อุปกรณ์ที่ว่านี้รวมถึงโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สวมใส่ได้ อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านและสำหรับผู้บริโภค อุปกรณ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ที่ใช้ในรถยนต์ โดยความสามารถในการใช้งานจะมากขึ้นกว่าเดิมและทำงานประสานกันมากขึ้น โดยอาศัยเซนเซอร์ต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้จะมาช่วยเสริม Internet of Things อีกทาง
การเชื่อมโยงข้อมูล
อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีการสร้างและเก็บข้อมูลไว้จะถูกนำมาเชื่อมโยงกัน เกิดการเชื่อมข้อมูลจากแหล่งที่แตกต่างกัน พร้อม ๆ กับเกิดเครื่องมือที่ก้าวหน้าขึ้นสำหรับบริหารจัดการข้อมูลอีกต่อหนึ่ง เช่น มีระบบจัดทำฐานข้อมูลทำเป็นแผนภูมิ เกิดเทคนิคการวิเคราะห์หรือจัดชั้นข้อมูลแบบก้าวหน้า หรือเทคนิคเพื่อวิเคราะห์หรือค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ รวมถึงด้านความมั่นคงปลอดภัย
วัตถุดิบสำหรับ 3D Printing
ที่ผ่านมากล่าวได้ว่า เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ หรือ 3D Printing มีความก้าวหน้าไปมาก จนถึงขั้นมีการพัฒนาวัตถุดิบสำหรับใช้ในงานพิมพ์อย่างหลากหลาย เช่น วัตถุดิบทำจาก Advanced Nickel Alloy, Carbon Fiber, แก้ว, Conductive Ink, วัสดุชีวภาพย่อยสลายได้ วัสดุหรือสารทางยา และวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการพัฒนาเหล่าทำให้สามารถสร้างความต้องการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และเติมเต็มความต้องการในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ทั้งอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ, เภสัชศาสตร์, รถยนต์และยานพาหนะ, พลังงาน และการทหาร การเติบโตของวัสดุที่ใช้ในการพิมพ์ 3 มิติได้นี้มีส่วนช่วยให้ธุรกิจด้านการพิมพ์ 3 มิติขายวัสดุเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นง 64.1% ต่อปีไปจนถึงปี 2019 และจะยังคงเป็นธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่องไปอีก 20 ปีข้างหนน้า เกิดการเติบโตทั้งสายการผลิตวัสดุเพื่อการพิมพ์ การผลิตชิ้นส่วนหรืออะไหล่และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงความสามารถในการผลิตได้อย่างรวดเร็วขึ้นด้วย
เครื่องจักร-คอมพิวเตอร์ฉลาด
นอกจากนี้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมองกลหรือโครงข่ายประสาทเทียม (deep neural nets -DNNs) จะทำให้เราได้เห็นเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ที่ฉลาดขึ้น มีพัฒนาการในการเรียนรู้ เข้าใจโลก เข้าใจธรรมชาติ รู้จักวิเคราะห์เนื้อหา ข้อมูลที่สลับซับซ้อนและสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เครื่องจักรที่ฉลาด เช่น หุ่นยนต์ ยานพาหนะหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนแบบไร้พลขับและผู้ช่วยส่วนตัวเสมือนจริง (virtual personal assistants -VPAs) และที่ปรึกษาอัจฉริยะต่าง ๆ เป็นต้น เครื่องจักรเหล่านี้จะสามารถทำงานได้อัตโนมัติหรืออย่างน้อยที่สุดก็กึ่งอัตโนมัติ โดยมีมนุษย์ช่วยเหลือน้อยที่สุด ตัวอย่างระบบผู้ช่วยส่วนตัวที่มีให้เห็นอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น Google Now, Microsoft Cortana และ Apple Siri แต่ต่อไปอาจจะได้เห็นเวอร์ชั่นที่ฉลาดขึ้น ก่อนจะพัฒนาไปสู่การทำงานเองอัตโนมัติได้อย่างเบ็ดเสร็จ ต่อไปเราอาจไม่ต้องเข้าที่เมนูต่างๆ บนสมาร์ทโฟนเพื่อกดปุ่มใช้งาน แต่อาจใช้วิธีพูดสั่งงานแอพฯต่าง ๆ แทน
ระบบความปลอดภัยต้องปรับตัว
การเติบโตก้าวหน้าของโลกดิจิตอลอย่างรวดเร็ว ทำให้ภัยจากการแฮ็คระบบ ฉกข้อมูลย่อมพัฒนาตามไปด้วย ดังนั้นองค์กรพัฒนาระบบความปลอดภัยต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับตัว ปรับรูปแบบการรักษาความปลอดภัยใหม่ ๆ เพื่อรับมือ เช่น เราอาจจะได้เห็นการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีระบบวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งาน ทำให้ระบบสามารถป้องกันตัวเองได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะมาช่วยเติมเต็มสถาปัตยกรรมระบบความปลอดภัยที่มีอยู่เดิมได้ ทำให้การทำธุรกรรมออนไลน์ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ มีความปลอดภัย อีกทั้งจะเป็นระบบที่ทำงานได้อย่างฉับไวขึ้นและใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่าด้วย
ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้น
ไทยจะมีผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตด้วยสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์แรกเพิ่มขึ้นและแตะจำนวน 50 ล้านคนภายในปี 2018 ซึ่งคิดเป็น 73% ของประชากรทั้งหมด และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างต่อองค์กรต่างๆ เช่น กลยุทธ์และการพัฒนาแอพพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟน องค์กรต่าง ๆ ต้องสร้างวิธีใหม่ๆ ในการนำเสนอสินค้าและบริการผ่านทางมือถือมากขึ้นแบบโมบายล์เฟิร์ส การปรับให้เหมาะสมกับตลาดท้องถิ่น และการนำเครือข่ายสังคมออนไลน์มาใช้เป็นมิติใหม่ในการมีส่วนร่วมของลูกค้า การเปลี่ยนแปลงนี้ยังผลักดันให้เกิดการใช้ระบบวิเคราะห์ การรองรับการใช้งานแบบออฟไลน์ และประสิทธิภาพของบิ้กดาต้าอย่างมาก เนื่องจากข้อมูลทั้งที่มีอยู่ และที่เกิดขึ้นใหม่นั้นจะถูกจัดเก็บในรูปแบบดิจิตอลซึ่งพร้อมใช้งานได้ทันทีเพื่อตอบสนองผู้ใช้ 50 ล้านราย
มีการลงทุนระบบคลาวด์ พื้นฐานระบบไอทีเพิ่มขึ้น
ธุรกิจจะมีการเตรียมพร้อมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไอทีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ด้านระบบคลาวด์ ซึ่งมีความจำเป็นเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจ โครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 หรือดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชันในเชิงธุรกิจนั้นจะเกิดขึ้นได้ยาก หากไม่มีคลาวด์เป็นพื้นฐาน เชื่อว่า ภายในปี 2018 การลงทุนด้านคลาวด์จะเพิ่มสัดส่วนเป็นอย่างน้อย 1ใน4 ของค่าใช้จ่ายด้านไอทีทั้งหมด
รูปแบบธุรกิจใหม่จะประสบความสำเร็จ
ภายในปี 2018 เชื่อว่า กว่า 20% ขององค์กรขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบจากนวัตกรรมทางโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่และจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานแบบเดิม ๆ เสียใหม่ ทั้งนี้ในอดีต ผลกระทบต่าง ๆ มักเกิดจากนวัตกรรมทางสินค้าและบริการ แต่อินเทอร์เน็ตและองค์ประกอบของแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 (ที่ประกอบด้วย โมบิลิตี้ คลาวด์ บิ๊กดาต้า และโซเชียล)จะช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างรูปแบบการนำเสนอสินค้าและบริการที่แตกต่างไปจากเดิมได้และ ในไม่ช้าธุรกิจแบบเดิมจะได้รับผลกระทบจากธุรกิจแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกิดจากการนำทรัพยากรที่ไม่ได้รับการใช้งานเต็มที่ต่าง ๆ มารวมเข้าไว้ด้วยกัน จนก่อให้เกิดสินค้า บริการ และตลาดใหม่ที่ตัวเองเป็นเจ้าของผู้เดียวได้
ยกตัวอย่าง เช่น Uber บริษัทบริการแท็กซี่ที่สามารถเรียกใช้บริการได้ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ และ Airbnb ซึ่งเป็นธุรกิจ Startup ที่กำลังมาแรงในยุคนี้ เป็นแนวคิดธุรกิจแบบ Sharing Economy และเพิ่งก้าวเข้ามาทำตลาดในไทยได้ราว 2-3 ปี คือ คอมมิวนิตี้ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถนำห้องว่างมาเปิดให้ผู้ใช้อื่นเช่าได้ในราคาถูก โดย Airbnb จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ทั้งผู้ให้เช่า และผู้เช่าสามารถค้นหา และจองห้องได้สะดวกขึ้น คล้ายกับเวบไซต์ค้นหาที่พักอย่าง agoda หรือ booking.com ต่างกันตรงที่เป็นห้องพักของประชาชนทั่วไปไม่ใช่โรงแรม นอกจากนี้ยังไม่คิดค่าธรรมเนียมหรือไม่เก็บค่าใช้จ่ายในการนำห้องพักมาลงบนเวบไซต์ด้วย จนปัจจุบันมีห้องพักเข้ามาให้บริการผ่านเวบไซต์นี้มากกว่า 200,000 ห้องจากอย่างน้อย 26,000 เมืองในมากกว่า 192 ประเทศ (ข้อมูล- www.blognone.com)
นับว่า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของธุรกิจแบบใหม่ที่มีการขยายฐานลูกค้า และ ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และกำลังสร้างผลกระทบต่อธุรกิจรูปแบบเดิม คาดว่าจะพบเห็นธุรกิจใหม่ในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น และทำให้ธุรกิจรูปแบบเดิมต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า มีการทำนายแนวโน้มเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรในปีใหม่ 2016 นี้ คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวกันต่อไป เพราะทุกอย่างต้องก้าวไปข้างหน้า ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งอาจมีดีมีไม่ดีและมีได้มีเสีย เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับมือ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ
ยังไงก็ขอให้ก้าวย่างอย่างมั่นใจและพบกับความโชคดีกันทุกท่าน สวัสดีปีใหม่ 2016 …
ภาพ- ภาพแรก http://www.theregister.co.uk/, englishbookgeorgia.com , en.wikipedia.org time.com,www.enlightapp.comและtelegraph.co.uk