ข่าวดีรัฐยกเว้น-ลดภาษีSMEs
คาดช่วยดึงเข้าระบบเพิ่มแสนราย
กระทรวงการคลังออกประกาศในวันจันทร์(4ม.ค.59)ว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้ประกาศพระราชกำหนดการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร พ.ศ. 2558 โดยเนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการSMEs คาดจะช่วยดึงเข้าสู่ระบบเพิ่มนับแสนราย
เนื้อหาในพ.ร.ก.และพ.ร.ฎ.มีดังนี้
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ไม่เกิน500 ล้านบาท และจดแจ้งการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ (บัญชีเล่มเดียว)ต่อกรมสรรพากร จะได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะเปิดให้มีการจดแจ้งการใช้บัญชีเล่มเดียวผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดอยู่ระหว่างถูกการตรวจสอบภาษีอากร เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม หลีกเลี่ยงภาษีอากร หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินคดีก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 บริษัทฯยังคงสามารถจดแจงการใช้บัญชีเล่มเดียวต่อกรมสรรพากรได้ โดยกรมสรรพากรจะดำเนินการเฉพาะกรณีนั้นๆต่อไป จนกว่าจะแล้วเสร็จ
สำหรับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ซึ่งมีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีเกิน 30 ล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2558 และได้มีการจดแจงต่อกรมสรรพากรในการใช้บัญชีเล่มเดียว จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 รอบระยะเวลาบัญชีคือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 และยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคลลรอบระยะเวลาบัญชีปี 2560 ดังนี้
1.สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาทยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและ
2.ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิสำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน300,000 บาท
กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะถูกเพิกถอนจากการยกเว้นการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลังและให้ถือว่า บริษัทฯนั้นไม่เคยได้รับสิทธิตามพระราชกำหนดฉบับนี้
นอกจากนั้น ยังระบุว่า ให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการเพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในการกำกับดูแลใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
ผลของการดำเนินการตามมาตรการบัญชีเล่มเดียวและการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับ SMEs นี้คาดว่าจะทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำบัญชีและงบการเงินสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินธุรกิจสร้างความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการ อันเป็นการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนสะท้อนสภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศและการทำธุรกรรมทางการเงินโดยรวม
นอกจากนี้การยกเว้นรวมทั้งการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำบัญชีเล่มเดียวจะช่วยส่งเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินธุรกิจและสร้างความน่าเชื่อถือในการขยายกิจการได้ด้วย
ทั้งนี้นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ใช่การนิรโทษกรรมทางภาษี แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือ สั่งให้เสียภาษีอากรและความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มาจดแจ้งต่อกรมสรรพากรในการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการเพียงเล่มเดียว
ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท คิดเป็น 98% ของนิติบุคคลที่อยู่ในระบบภาษี ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลที่เป็นกิจการ SMEs มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท อยู่ 81% หรือ ประมาณ 3.4 แสนราย ส่วนนิติบุคคลที่รายได้เกิน 500 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 8 หมื่นราย คาดว่าจะมีนิติบุคคลมาเข้าร่วมโครงการไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังประมาณ 30% หรือกว่า 1 แสนราย
ส่วนการให้สิทธิพิเศษแก่ SMEs ไม่ต้องเสียภาษีในปี 2559 และให้ส่วนลดในการเสียภาษีปี 2560 เหลือเพียง 10% แก่ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการนั้น คาดว่าจะทำให้กรมสรรพากรเสียรายได้ราว 1 หมื่นล้านบาท แต่กรมสรรพากรจะเก็บภาษีทางจริงและทางอ้อมได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม