ก.วิทย์ระดมกูรูภาครัฐ-เอกชน
เฟ้นโครงการวิจัยช่วยชาติแข่งได้
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพิจารณาโครงการวิจัยที่เสนอของบประมาณแบบบูรณาการ ปีงบประมาณ 2560 ในส่วนการส่งเสริมวิจัย พัฒนานวัตกรรมเพื่อการแข่งขันของประเทศ” สนองนโยบายรัฐบาลหนุนประเทศแข่งขันได้ เน้นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ปันส่วนงบฯบูรณาการวิจัยปี60 ร่วมวช. พร้อมเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจัดลำดับโครงการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศ
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า “จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ โดยมุ่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการบูรณาการงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายเรื่องสำคัญเร่งด่วน ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ ประหยัดและไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ประจำปีงบประมาณ 2560 ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา) และโดยมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง) เป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สป.วท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเลขานุการ
ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ได้มีมติมอบหมายให้ สป.วท. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ร่วมกันพิจารณากลั่นกรองงบประมาณโครงการวิจัยที่ตอบสนองต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สนองตอบนโยบายของรัฐบาลด้านส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Competitiveness)
โดยพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบซุปเปอร์คลัสเตอร์และอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ประกอบด้วย (1) ยานยนต์สมัยใหม่ (2) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (3) การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (5) อาหารแห่งอนาคต (6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (7) การบินและโลจิสติกส์ (8) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (9) ดิจิทัล (10) การแพทย์ครบวงจร (11) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (12) อื่นๆ (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม) ซึ่งมีโครงการวิจัยที่เสนอเข้ามาให้พิจารณาเบื้องต้นในวันนี้ รวมทั้งสิ้น 127 โครงการ”
ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์การประชุมครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยที่เสนอของบประมาณผ่านระบบการบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ (www.nrms.go.th) ของ วช. ได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อข้อเสนอโครงการวิจัยที่ของบประมาณแผ่นดิน ปีงบประมาณ 2560 จากผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมด้วย เพื่อกำหนดกรอบทิศทางการส่งเสริมวิจัยและพัฒนาของประเทศเป็นไปตามเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจะมีประเด็นการพิจารณาที่สำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่
- โครงการวิจัยที่ตอบสนองต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในประเด็น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) หมายถึง วิจัยและพัฒนาการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีขอบเขตการวิจัย ประกอบด้วย
– ด้านเทคโนโลยีและชิ้นส่วน เช่น แบตเตอรี่ และระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า เป็นต้น
– ด้านการออกแบบและจัดทำต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้า
– ด้านเทคโนโลยีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ก้าวทันมาตรฐานโลก เช่น ชิ้นส่วนความปลอดภัยและประหยัดพลังงาน ระบบช่วยเหลืออัจฉริยะสำหรับผู้ขับขี่ ชิ้นส่วนระบบเชื้อเพลิง ชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง เป็นต้น
– ด้านการผลิตจักรยานยนต์ (ขนาดมากกว่า 248 CC) เช่น การขึ้นรูปชิ้นส่วนรถยนต์
- ศักยภาพการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive)
- โครงการวิจัยมีภาคเอกชนมีส่วนร่วมดำเนินการ (In cash In kind)
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อสรุปการพิจารณาโครงการวิจัยที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญ จะถูกนำเสนอต่อสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาอีกครั้ง หลังจากนั้นเมื่อโครงการใดผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจากสำนักงบประมาณแล้ว จะต้องจัดทำรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมแบบ Full Review ภายในเวลา 3-4 เดือนข้างหน้า