“พิเชฐ” บุกจีนชวนรัฐบาล-เอกชน
ร่วมลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ไทย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เดินทางเยือน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนอย่างเป็นทางการ นำคณะผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าพบนายว่าน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หารือถึงแนวทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศ ชี้จีนสนใจเรื่องการสร้างประเทศแห่งธุรกิจใหม่ (Startup Nation) สนับสนุนโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (FoodInnopolis)
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงภารกิจในวันที่ 14 มกราคมว่า รัฐมนตรีว่าการวิทยาศาสตร์ฯจีน ให้ความสนใจมาตรการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐบาลไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และตกลงที่จะดำเนินการแลกเปลี่ยนในระดับนโยบายด้านนวัตกรรม โดยใช้กลไกการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างสองประเทศต่อไป นอกจากนี้ยังให้ความสนใจเรื่องการสร้างประเทศแห่งธุรกิจใหม่ (Startup Nation) เป็นอย่างมาก และยินดีที่จะร่วมมือใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยกำหนดขึ้น เนื่องจากมีความสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศจีนในแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 13 ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อไม่นานมานี้
ในโอกาสเดียวกันรมว.วิทยายาศาสตร์ฯ ยังได้นำคณะเข้าหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ทัศ โฮลดิ้ง ( Tus-Holding) จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนภายใต้มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) ในการสานต่อการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างบริษัททัศ โฮลดิ้ง กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ลงนามไปเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นผู้นำในการพัฒนาผู้ประกอบการและบริษัทสตาร์ทอัพ ของไทยและประเทศในอาเซียน โดยอาศัยประสบการณ์ของอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา (TUS Park) ด้านการประเมิน คัดเลือกและดูแลบริษัทภายใต้โครงการ
“บริษัททัศ โฮลดิ้ง จะสนับสนุนโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (FoodInnopolis) โดยจะช่วยรวบรวมรายชื่อบริษัทที่ทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารที่สนใจจะมาลงทุนในประเทศไทย พร้อมอำนวยความสะดวกในการจับคู่ธุรกิจให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อีกด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังตกลงร่วมกันที่จะจัดให้มีโครงการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อนวัตกรรม ซึ่งความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในระยะยาวในการขับเคลื่อนธุรกิจเกิดใหม่ ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อีกด้วย” ดร.พิเชฐ กล่าว
นอกเหนือจากนี้รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนคือ Zhongguancun Science Park หรือ Z-Park ที่เน้นบ่มเพาะธุรกิจการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีด้านไอซีที วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวัสดุใหม่ ของจีนกว่า 13,000 บริษัท ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่สูงถึง 1/7 ของมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากอุทยานวิทยาศาสตร์ทุกแห่งในจีน และมีอัตราการเติบโตสูงถึง 20-30% และได้เดินทางต่อไปเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีของบริษัทหัวเหว่ยซึ่งเป็นสถานที่แสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านโทรศัพท์มือถือและการสื่อสารทั้งระบบ โดยเฉพาะเทคโนโลยีโมบาย บอร์ดแบรนด์ ซึ่งสามารถให้บริการในรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งด้วยความเร็วกว่า 330 กม./ชม. ได้ และการจัดการระบบการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การก่อการร้าย เป็นต้น
ในวันที่ 15 มกราคม รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ของไทยและคณะ เดินทางไปยังแขวงชุนยี เพื่อเยี่ยมชม Qiaobo Ice and Snow World ซึ่งเป็นสถานที่เล่นและฝึกซ้อมสกีและกีฬาที่ต้องใช้ลานน้ำแข็งในร่ม รวมทั้งใช้เป็นแหล่งฝึกสำหรับนักกีฬาสกีที่จะเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาวอีกด้วย โดยสถานที่แห่งนี้ลงทุนติดตั้งระบบพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่เป็นเทคโนโลยีของทัศ โฮลดิ้ง ทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ถึงมากกว่าร้อยละ 20 และสามารถคืนทุนจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ภายใน 7 ปี นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีในการควบคุมตลอดจนสร้างบรรยากาศให้เหมือนกับการเล่นสกีลางแจ้ง ถือเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่กำลังได้รับความนิยม โดย ดร.พิเชฐ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีธุรกิจคล้ายกันแบบนี้เกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และคณะ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชม ระบบนิเวศน์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่น่าสนใจมากแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งที่เรียกว่าอินโนเวย์ ( InnoWay) ซึ่งเป็นย่านทีมีกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานที่มีชื่อว่า Great Wall Enterprise Institute (GEI) พัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งทำงานของผู้ประกอบการใหม่และหน่วยงานสนับสนุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในรูปแบบที่ตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะสร้างธุรกิจของตนเอง รวมทั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจอีกหลายแห่ง ทำให้เห็นบรรยากาศการสนับสนุนการทำธุรกิจของปักกิ่งที่เป็นไปอย่างคึกคัก และได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์แสดงเทคโนโลยี 10Cents ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาแอพลิเคชั่นรายใหญ่ของจีน ที่ใช้กันทั่วโลก คือ WeChat ด้วย
หน่วยงานสุดท้ายที่ รมว.วิทยาศาสตร์และคณะได้เข้าเยี่ยมชมและหารือ คือ GEI โดย ดร.พิเชฐ กล่าวว่า GEI เริ่มมีความร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศไทยคือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (สวทน.) เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนผู้ประกอบการของไทย เนื่องจาก GEI มีความชำนาญมากในการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ และอุทยานวิทยาศาสตร์รวมทั้งศูนย์บ่มเพาะหลายๆแห่งในประเทศจีนก็เกิดจากการสนับสนุนและการกำกับดูแลของหน่วยงานแห่งนี้ และ ในระยะไม่กี่ปีมานี้ GEI ได้สร้างโปรแกรมในการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพสูงเช่นการดึงดูดนักศึกษาจีนที่ไปเรียนต่อในต่างประเทศระดับปริญญาเอกที่มีความรู้ความสามารถดีเยี่ยมนั้นให้กลับมาเป็นผู้ประกอบการและจัดตั้งธุรกิจใหม่ๆในประเทศจีน โดยมีสิทธิพิเศษต่างๆมากมาย เช่นสิทธิในการซื้อบ้าน รถยนต์ และการเข้าโรงเรียนของบุตร รวมทั้งเงินสนับสนุนในการลงทุนอีกด้วย โปรแกรมนี้ได้รับความสำเร็จอย่างมากและทาง GEI ก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาผู้ประกอบการเหล่านี้กับหน่วยงานที่รับผิดขอบของประเทศไทย