แอนติบอดีมนุษย์สู้ไข้เลือดออก
คว้าผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น
ข่าวคราวโรคร้ายใกล้ตัว “โรคไข้เลือดออก” คร่าชีวิต “ปอ” ทฤษฎี สหวงษ์ (18ม.ค.59) พระเอกชื่อดัง ภายหลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นเวลากว่า 2 เดือน สร้างความเสียใจ เศร้าใจ ทั้งครอบครัวสหวงษ์ เหล่าแฟนคลับและประชาชนทั่วไป เพราะคงไม่มีใครคาดคิดว่า โรคที่รู้จักมักคุ้นกันมานานจะมีพิษสงร้ายกาจนัก ที่ผ่านมามีนักวิจัยไทยจำนวนมากศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีต่อสู้กับโรคชนิดนี้ ซึ่งพอมีความหวังอยู่บ้าง เมื่อมีการวิจัยพัฒนา “แอนติบอดีมนุษย์สำหรับรักษาไข้เลือดออก”ที่สามารถกำจัดไวรัสไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้
รศ.ดร.น.สพ.พงศ์ราม รามสูต และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ คือ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น 2559 ระดับดีเด่น (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์) จากผลงาน“แอนติบอดีมนุษย์สำหรับรักษาไข้เลือดออก” ที่อนาคตอาจเป็นทางเลือกช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคราว 100 ล้านคนต่อปีทั่วโลก
ร่วมอาลัย(ภาพ-เฟซบุ๊ค ปอ ทฤษฎี แฟนคลับ)
รศ.ดร.น.สพ.พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกจัดเป็นเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า 2 ใน 5 ของประชากรโลกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ และพบว่าประชากรประมาณ 100 ล้านคนทั่วโลกติดเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจำนวนถึง 500,000 คนที่เป็นโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง ที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตถึง 20,000 คนต่อปี ในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียาหรือวัคซีนที่เฉพาะ การรักษาโรคไข้เลือดออกใช้การรักษาตามอาการ
ทีมวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลกในการสร้างแอนติบอดี้จากมนุษย์ (NhuMAb) โดยคัดเลือกจากเซลล์ของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกระยะเฉียบพลัน และผู้ป่วยระยะฟื้นไข้ เป็นแอนติบอดี้ที่สามารถยับยั้งไวรัสไข้เลือดออกเด็งกี่ได้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้ทดสอบใน หนู และ ลิง พบว่า NhuMAb สามารถเพิ่มการรอดชีวิตของหนู และสามารถทำลายไวรัสไข้เลือดออกเด็งกี่ในกระแสเลือดของลิงได้หมดภายใน 2 วัน โดยได้ดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปี 2552 จดสิทธิบัตรมาแล้วใน 10 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาให้ใช้ได้ในมนุษย์ คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริงภายในระยะเวลาอันใกล้นี้
“การทดสอบในคน จำเป็นต้องผ่านการยอมรับจากคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก่อน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยร่วมมือกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด คาดว่าจะได้รับการอนุมัติในปีหน้า 2560 หลังจากนั้นจะทำการทดลองในคนปกติก่อน ถ้าได้ผลดีไม่มีผลข้างเคียงจึงทดลองในผู้ป่วยจริง รวมเวลาการศึกษาทดลองทางคลินิกใช้เวลาประมาณ 4 ปี หากประสบความสำเร็จจึงสามารถนำมาใช้รักษาจริงได้ ซึ่งใช้แอนติบอดีเพียง 10 มิลลิกรัมก็สามารถใช้รักษาได้ หากอยู่ในช่วง 3-4 วันแรกที่เป็นไข้ จะทำให้ไวรัสลดลงเท่ากับ 0 และไม่เป็นโรค”
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า NhuMAb ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นประโยชน์กับการรักษาโรคไข้เลือดออกเป็นอย่างมาก เพราะยังคงไม่มียารักษาเฉพาะ รวมทั้งใช้ลดความรุนแรงของอาการป่วยจากไข้เลือดออกได้ NhuMAb จึงเป็นอีกหนทางในการช่วยเหลือผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลกที่ต้องการได้ยารักษา และไม่อยากป่วยเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรง โดยทีมวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จะเข้ารับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น ประจำปี 2559 ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงานวันนักประดิษฐ์ 2 กุมภาพันธ์ 2559 จัดที่ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา