ก.วิทย์ฯเปิด“คูปองวิทย์เพื่อโอทอป”
สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็งจากภายใน
กระทรวงวิทย์ฯ เปิดตัว “คูปองวิทย์เพื่อโอทอป” เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปทั้งประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) สอดรับกับมาตรการโอทอป 2.0 ใน 6 ด้าน คือ พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ออกแบบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน บรรจุภัณฑ์ และเครื่องจักร ครอบคลุม 3 กลุ่มได้แก กลุ่มโอทอปสตาร์ทอัพ กลุ่มโอทอปปัจจุบัน และกลุ่มโอทอปที่มุ่งก้าวสู่SMEs มีผลทันที จัดงบ 50 ล้านบาทตั้งเป้ามีโอทอปสตาร์ทอัพเข้าร่วม 200 ราย เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ 200 ผลิตภัณฑ์ปี 60 ตั้งเป้าเกิดโอทอปสตาร์ทอัพ 300 ราย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้ประกอบการโอทอปทั่วประเทศ และต้องการสนับสนุนการยกระดับโอทอปให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยอาศัยประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค องค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี นวัตกรรม เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และการจัดช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ (e-market place) สำหรับผลิตภัณฑ์
“คูปองวิทย์เพื่อโอทอป” ดำเนินการโดยหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) รวมถึงเครือข่ายการทำงานในต่างจังหวัดทั้งอุทยานวิทยาศาสตร์และคลินิกเทคโนโลยี ที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ และสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของผู้ประกอบการโอทอปอีกด้วย
“หน่วยงานกระทรวงวิทย์รวมพลังกัน โดยมีวว.เป็นผู้นำ จัดระบบให้สิ่งที่เคยทำกันมาเป็นกลุ่มก้อน เป็น OTOP Cluster เป็นทีมของกระทรวงวิทย์ ชุมชนได้ประโยชน์ต้งแต่ต้นน้ำถึงปลายนน้ำ ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแก้ปัญหา ต่อยอด”
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SMEs อยู่ 2.8 ล้านคน เป็น OTOP ในระบบ 72,000 ราย แต่ยังมีประชาชนทั่วไป นักศึกษาจบใหม่ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ที่่ทำธุรกิจแล้วที่อยากทำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้วย คูปองวิทย์เพื่อโอทอปสามารถช่วยได้ โดยจะมอบให้ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วน มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ในการให้มีที่ปรึกษาและแผนพัฒนาโอทอปตามความต้องการ
โดยเน้นที่ 3 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่ม Start Up หรือ OTOP START-UP ซึ่งรวมถึงประชาชนทั่วไป นักศึกษาจบใหม่ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ที่่ทำธุรกิจแล้วที่อยากทำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้วย และยังไม่ได้เข้าระบบ 2.กลุ่ม Existing คือ OTOP ทั่วไปที่อยู่ในระบบแล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐาน เช่นด้านการผลิต บรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือให้ยกระดับ 3.กลุ่ม GROWTH ได้แก่ OTOP ใน 72,000 รายที่ไปไกลจนสามารถส่งออกได้แล้ว มุ่งช่วยพัฒนามาตรฐานให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง งบประมาณโครงการ 50 ล้านบาท ผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือภายใต้วงเงิน 300,000 – 500,000 บาท ต่อปีต่อราย โดยผู้ประกอบการจะร่วมลงทุนด้วย ตั้งแต่ 30% – 70% ขึ้นอยู่กับบริการและจำนวนการจ้างงาน
“เงินนำไปใช้ในหลายด้าน เช่น แก้ปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ให้ได้มาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ การตกแต่งส่วนงาม ทำกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน สิทธิหลังมีผลิตภัณฑ์ การลงทุนด้านออกแบบเครื่องจักร เป็นต้นโดยใช้เวลา 3 ปี ปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 110 รายและยังมีอยู่ต่อเนื่อง จึงได้ขยายเวลาการสมัครออกไปจนถึงเดือนมีนาคม 2559 และยังคงเปิดรับสมัครต่อเนื่องในรอบปีงบประมาณถัดไป ตั้งเป้าช่วยOTOP START-UP ได้ 200 ราย ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปได้มากกว่า 200 ผลิตภัณฑ์
ผู้ประกอบการ 1 รายสามารถใช้คูปองฯได้ไม่เกิน 2 ผลิตภัณฑ์ โดยมีการสัญจรไปใน 10 จังหวัดเพื่อให้ความรู้และบริการผู้ประกอบการ เช่น นครพนม มุกดาหาร เชียงราย จันทบุรี สุราษฎร์ธานี ตรัง อุบลราชธานีและสกลนคร
“คูปองวิทย์เพื่อโอทอป จะช่วยพัฒนาความเข้มแข็งของประเทศจากภายใน ให้เศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง โดยคาดว่า ในปี 2560 มีงบประมาณโครงการเบื้องต้น 400 ล้านบาทแต่อาจได้รับการสมทบเพิ่มจากหน่วยงานหรือกระทรวงอื่น ๆ คาดจะเกิดกลุ่มโอทอปใหม่ 330 ราย โอทอปที่เป็นนวัตกรรม 310 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โอทอปจะได้รับการยกระดับมาตรฐาน 620 ชิ้น เกิดโอทอประดับเอสเอ็มอี 105 ราย และสามารถส่งออกได้ 20 ราย ผลิตภัณฑ์โอทอปที่พัฒนาด้วย วทน. จะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อราย และสามารถขายเชิงพาณิชย์ร้อยละ 30 โดยคาดว่า จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี
ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีกลไกของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะต่อยอดสนับสนุนผู้ประกอบการในการขยายการผลิต เช่น การสนับสนุนเงินทุนให้เปล่าภายใต้โครงการ “ทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม” ของ สนช. การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย iTAP ของ สวทช. และการสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ STIM ของ วว.
ตัวอย่างผลงานOTOP ที่นำมาโชว์