สวทช.-สกว.หนุนSMEsอาหาร
ทำสินค้านวัตกรรมขายได้จริง
สวทช. ลงนามความร่วมมือกับสกว. ในโครงการ “การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง” มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมขายได้จริง กลุ่มเป้าหมายเป็นวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง(SMEs) ด้านอาหาร เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมอื่นทั่วประเทศ จัดสรรทุนให้นักวิจัยทำวิจัยให้ผู้ประกอบการ 100 โครงการ เป็นตัวอย่างพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้วิทย์-เทคโนฯและสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคเพิ่ม
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สวทช. กล่าวว่า “อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารประมาณ 110,000 ราย แยกเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 0.5 และระดับ SMEs มากถึงร้อยละ 99.5 ซึ่งSMEs ส่วนใหญ่ยังขาดการนำองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม รัฐบาลจึงได้มีนโยบายในการยกระดับศักยภาพให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมในการผลิตสินค้า สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มจากการต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ สร้างความสามารถแข่งขันได้ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่และรูปแบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงร่วมกันสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง”
โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นช่วยผู้ประกอบการ SMEs ด้านการสนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบการบูรณาการ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสมผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับการจัดการด้านธุรกิจ การศึกษาข้อมูลทางการตลาดเบื้องต้น และการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด “วิจัยได้…ขายจริง” จากกลไกการทำงานของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) (สวทช.) และชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative house ฝ่ายอุตสาหกรรม (สกว.) โดยการจัดสรรทุนวิจัยให้แก่นักวิจัย คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาวิจัยให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาสินค้านวัตกรรม พัฒนากระบวนการผลิต เทคโนโลยี และสร้างองค์ความรู้จากกระบวนการศึกษาวิจัย ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี
ทั้งนี้ได้จัดสรรงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 100 โครงการ เพื่อสร้างให้นักวิจัยเกิดการศึกษาวิจัยแบบบูรณาการและทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยอย่างมีคุณภาพ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถนำองค์ความรู้ในส่วนของการบริหารจัดการ การตลาดและข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านธุรกิจไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจได้ ทำให้เกิดการสร้างรายได้ ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เกิดความรู้ความเข้าใจในระบบการผลิตที่ดี การพัฒนาแบรนด์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนสามารถพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้งในและต่างประเทศ
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “สวทช. ได้ดำเนินโปรแกรม ITAP มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ให้การสนับสนุน SMEs ไปแล้วไม่น้อยกว่า 7,000 ราย โดย ITAP สรรหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงกับโจทย์ความต้องการของ SME แต่ละราย มาช่วยในการทำโครงการวิจัยและพัฒนาให้ SME เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ปัจจุบัน ITAP มีผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมดำเนินงานอยู่ไม่น้อยกว่า 1,300 ราย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือ SME ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งยังขาดทรัพยากรด้านต่างๆสำหรับการวิจัยและพัฒนา ทั้งด้านการเงินและบุคลากร
ความร่วมมือกับ สกว. ในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้จริง ให้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ จะเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดย สวทช. จะร่วมสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและบริหารจัดการทุนวิจัย รวมทั้งผลักดันผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนให้ SME เติบโตบนเศรษฐกิจฐานความรู้ ไปเป็นแกนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ในการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางของประเทศต่อไป”
ด้าน ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า “สกว. ตระหนักและให้ความสำคัญของการวิจัยและสนับสนุนการวิจัยเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ด้วยการสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสมผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับการจัดการด้านธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ และพัฒนาขีดความสามารถของนักวิจัยให้สามารถทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้อย่างมีคุณภาพ โดย สกว. จะร่วมสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและบริหารจัดการทุนวิจัย รวมทั้งผลักดันผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ซึ่งผลของโครงการความร่วมมือนี้ นอกจากก่อให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ในแง่การสร้างรายได้ให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาคเกษตรด้วยการนำวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยเกื้อกูลกันและกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศจากระดับไปสู่มหภาค ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของประชากร ทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง”