วิศวลาดกระบัง-ก.ไอซีที-ซิป้า
ผุด “สตาร์ทอัพนักศึกษา” ที่แรก
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ร่วมกับ กระทรวงไอซีทีและสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ดีเดย์เปิดตัวสตาร์ทอัพ คลับแห่งแรกของไทย ในชื่อ โครงการสตาร์ทอัพนักศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ เสริมพลังทัพสตาร์ทอัพของไทยด้วยเทคโนโลยีและวิศวกรรม ปั้นต้นกล้า 200 นักศึกษา และกลุ่มสตาร์ทอัพ 5 กลุ่มต้นแบบภายในปี 2559 จากเป้ารวม 40 กลุ่มในมหาวิทยาลัยต่างๆ
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “ในช่วงปี 2558 -2559 เป็นต้นไปนับเป็นกระแสการเติบโตของ“Startup” ของไทย หรือบริษัทเปิดใหม่ที่พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการโดดเด่นด้วยเทคโนโลยี จากธุรกิจขนาดเล็กๆ จนกระทั่งดึงดูดเงินทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมขยายกิจการ
ปัจจุบันประเทศในอาเซียนมี Startup เกิดใหม่มากมาย มีอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เทียบกับประเทศไทยยังถือว่านวัตกรรม Startup ของเรายังเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากขาดการเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีกับศักยภาพการตลาดในกลุ่มสตาร์ทอัพ อีกทั้งผลงานวิจัยในประเทศไทยรวมประมาณ 3.7 แสนผลงาน มีเพียง 40 -45 % ที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ได้ และในจำนวนนี้มีนวัตกรรมไม่ถึง 5 % ที่สร้างมูลค่ารายได้กลับมา
โครงการสตาร์ทอัพนักศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ (KMITL Innovation & Tech Startup – KITS) โดยคณะวิศวลาดกระบัง สจล. ซึ่งนับเป็นสถาบันผลิตบุคคลากรด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของไทย ร่วมกับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA มีความสำคัญมาก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการใหม่เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม (Start-ups) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมให้นักศึกษานำความคิดสร้างสรรค์ไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้นักศึกษานำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีความเข้าใจในการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Model) ให้ประสบความสำเร็จ”
ทั้งนี้รศ.ดร.คมสันกล่าวต่อว่า องค์ประกอบสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจในยุคปัจจุบันและอนาคต คือ การกระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้กับนักศึกษาคนรุ่นใหม่ได้ดัดแปลงและประยุกต์การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาตอบโจทย์ปัญหา การวิเคราะห์ความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ และการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Model) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าหรือบริการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสำเร็จเชิงพาณิชย์
แต่ละทีมผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) ควรประกอบด้วย นักศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชา เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ใช้จุดเด่นความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ นักศึกษาคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และรวมพลังศักยภาพของทีม เพื่อนำไปสู่การเป็น Startup ผู้ประกอบการรายใหม่ กิจกรรมการดำเนินงาน ของโครงการสร้างเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ (KMITL Innovation & Tech Startup หรือ KITS) ใช้เวลา 9 เดือน โดยจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ , จัดเวทีเสวนาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup), จัดเวทีเสวนาทางธุรกิจและอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ , สรุปและประเมินผลโครงการ โดยตั้งเป้าหมาย จำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 200 คน และมีกลุ่มต้นแบบ Startup เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 กลุ่ม
สำหรับโครงการสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพนักศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ (KMITL Innovation & Tech Startup -KITS) ประกอบไปด้วย 3 โครงการย่อย คือ 1.) โครงการค้นหาผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ จากนั้นจะมีการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วมโครงการโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 2.) โครงการ Campus Tour จัดให้มีการพบปะกันระหว่างกลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเครือข่าย เพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียความคิดสร้างสรรค์ระหว่างกัน และ 3.) โครงการสร้างความตระหนัก-จิตวิญญาณผู้ประกอบการ เป็นการจัดเสวนาทางธุรกิจและอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Model) ทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตและประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ในระหว่างปี 2559 คณะวิศวลาดกระบัง สจล. ยังมีแผนจัด 2 งานกิจกรรมใหญ่ที่จะส่งเสริมโอกาสและการพัฒนาสตาร์ทอัพของประเทศไทยและนักศึกษา ได้แก่ 1.) งาน KMITL Startup Project Day 2016 วันที่ 20-21 เมษายน 2559 เป็นงานแสดงนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ทุกสาขาวิชา ณ หอประชุม สจล. 2.) งานวิศวะ’59 กำหนดจัดในวันที่ 1-4 กันยายน 2559 ณ ไบเทคบางนา ในงานมีการแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมที่ก้าวหน้าและใหญ่ที่สุด แสดงผลิตภัณฑ์ บริการที่โดดเด่น ผลงานวิจัยและสตาร์ทอัพของผู้ประกอบการและกลุ่มนักศึกษา งานวิศวะในปีที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยในปี 2559 จะพัฒนางานให้ยิ่งใหญ่และมีสีสันของสตาร์ทอัพอย่างน่าสนใจ
ด้านดร.สำราญ ภูอนันตานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กล่าวว่า “กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หรือ Tech Startup ซึ่งเป็นแนวทางการส่งเสริมที่สอดคล้องกับแนวนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ SMEs ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล จึงได้ร่วมกับ SIPA จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการใหม่เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม (Start-ups) มีแผนจะเปิดสตาร์ทอัพ คลับสำหรับนักศึกษา 40 แห่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยได้เปิดสตาร์ทอัพ คลับแห่งแรกของไทยที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตวิศวกรนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่มีชื่อเสียง เข้ามาร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงพลังสำคัญยิ่งที่จะช่วยผลักดันให้วงการสตาร์ทอัพของไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและก้าวไกลยั่งยืนในเวทีระดับประเทศและระหว่างประเทศ สามารถนำความก้าวหน้าทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างนวัตกรรม ตอบโจทย์และสนองความต้องการผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ต่อไป”