“ผู้ว่าใหม่” พร้อมดึงศักยภาพวว.
ถ่ายทอดวทน.หนุนชาติแข่งได้
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดตัวผู้ว่าการวว.คนใหม่อย่างเป็นทางการ พร้อมกำหนดทิศทางขับเคลื่อนองค์กร มุ่งให้วว.ทำหน้าที่เป็นองค์กรที่ประยุกต์ใช้ศักยภาพและความพร้อมที่มีอยู่ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(วทน.)พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตอบสนองนโยบายของรัฐบาล
ดร.ลักษมี เปล่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)เปิดเผยว่า จะปรับให้วว.มีโฉมใหม่ โดยจะดึงเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีมาใช้เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจองค์กรได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งจะถ่ายทอดการบริการตามขอบข่าย เพื่อตอบโจทย์ของประเทศและบริการด้านการสร้างมาตรฐานต่าง ๆ ให้เป็นที่ยอมรับนำพาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
ทั้งนี้ผู้ว่าการวว.คนใหม่ได้กล่าวถึงทิศทางการวิจัยและพัฒนาของวว.ว่า มุ่งเน้นงานวิจัยที่ตอบสนองคลัสเตอร์เป้าหมาย เช่น ด้านการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพและอาหารแห่งอนาคต โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักของคนไทยและไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารในอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งวว.มีความพร้อมและจะใช้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ และผลักดันงานวิจัยที่จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม
“วว.มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ด้านการออกแบบเครื่องจักร เครื่องใช้สำหรับภาคกาารเกษตร เครื่องจักรที่ใช้แปรรูปอาหาร เครื่องมือแพทย์และเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ ดังนั้นจะใช้จุดแข็งนี้เพื่ออกแบบเครื่องจักร เครื่องมือให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)และภาคอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกันวว.ยังเน้นในเรื่องพลังงานทางเลือก โดยยังต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งยังเน้นในด้านไบโอเบส อาทิ พลังงานจากไบโอแมสและพลังงานจากสาหร่าย อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เมื่อเร็ว ๆนี้เพิ่งไปสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ยกให้เป็น “สะแกราชโมเดล” ต้นแบบของการรักษาผืนป่าเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”
สำหรับในการถ่ายทอดเทคโนโลยีของวว.นั้นจะเน้นการปฏิรูปภาคการผลิตของชุมชน ประยุกต์ใช้วทน.ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชนและเหล่าเกษตรกรทั่วไป โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ต่อยอดองค์ความรู้และสร้างมูลค่าเพิ่มจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งวว.ได้พัฒนาโครงการ Science,Technology and Innovation Matching Program หรือ STIM เพื่อ OTOP ผ่านกลไก คูปองวิทย์เพื่อ OTOP ช่วยเหลือครอบคลุม 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มโอทอปสตาร์ทอัพ กลุ่มโอทอปปัจจุบัน และกลุ่มโอทอปที่เติบโตแล้วมุ่งก้าวสู่SMEs โดยกลไกเหล่านี้จะทำให้เกิดการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ออกแบบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน บรรจุภัณฑ์ และด้านเครื่องจักร
นอกจากนี้ยังมุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรวว.ในด้านการตลาด การจัดจำหน่าย สถาบันการเงินและมหาวิทยาลัย ส่งเสริมนักวิจัยไปสู่ภูมิภาค รวมถึงนักวิจัยในมหาวิทยาลัยร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านโครงการ Science,Technology and Innovation Matching Program และมีการประเมินผลสัมฤทธิ์
ส่วนทิศทางการให้บริการของวว.นั้น วว.มีศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา (ศทม.) ที่มี 6 ห้องปฏิบัติการห้องปฏิบัติการเพื่อให้บริการทดสอบเพื่อให้การรับรองมาตรฐานหลายด้าน ทั้งด้านมาตรฐานทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อิเล็กทรอนิกส์ ด้านแสงและอุณหภูมิ วิศวกรรมทางกล ฟิสิกส์ เคมี และชีวเคมีและจุลชีววิทยา
“ไทยมีการขยายเส้นทางคมนาคมจำนวนมาก และวว.มีระบบทดสอบการขนส่งทางรางมานานกว่า 10 ปีแล้ว เรามีองค์ความรู้ทางด้านนี้โดยได้รับความช่วยเหลือจากเยอรมนี ซึ่งคาดว่าจะช่วยตอบสนองนโยบายของภาครัฐได้ รวมถึงการบริการที่รองรับสังคมสีเขียว เช่น การทดสอบสารต้องห้าม ทดสอบพลาสติกชีวภาพและทดสอบด้านพิษวิทยา เป็นต้น ที่เวลานี้สามารถใช้บริการได้ถูกต้องรวดเร็วแบบวันสต็อป เซอร์วิส(One Stop Service)ได้”
ดร.ลักษมียังกล่าวถึงนโยบายด้านยางพาราที่รัฐบาลกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในขณะนี้ว่า วว.ได้ร่วมมือกับสำนักงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)และภาคเอกชนพัฒนาแผ่นยางรองรางรถไฟและมีการทดสอบแล้ว ซึ่งพบว่า รางความยาว 1 กิโลเมตรใช้น้ำยางพาราเพื่อมาทำแผ่นยางรองรางรถไฟประมาณ 300 ตัน ถ้าความยาว 4,000 กิโลเมตรจะใช้น้ำยางประมาณ 1,200 ตัน เมื่อเร็ว ๆนี้เพิ่งนำไปแสดงที่ทำเนียบรัฐบาล
ในโอกาสเดียวกันนี้วว.ยังได้จัด “พิธีลงนามความร่วมมือโครงการการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก” ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัย เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เป็นกำลังสำคัญของภาครัฐและภาคเอกชนต่อไป โดยโครงการนี้วว.ได้ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว สามารถผลิตบัณฑิตได้รวม 226 คน ระดับปริญญาโท 205 คนและระดับปริญญาเอก 21 คน