มธ.รุกสร้างความเป็นเลิศวิทย์
สู่17จ.เหนือ-เพิ่มวิทย์ทั่วไปปี60
ในยามนี้กล่าวได้ว่า ระบบการศึกษาของไทยกำลังมีการตื่นตัวเป็นพิเศษในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ มุ่งสร้างบัณฑิต์และบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและแข่งขันได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล โดยร่วมมือกับสพฐ.สสวท. รุกยกระดับการศึกษาสู่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ลดขาดแคลนบุคลากรสายวิทย์ ที่ไทยผลิตได้เพียง 8 คน ต่อประชากร 10,000 คนต่อปีเท่านั้น
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบสภาวะขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การเกษตร การคมนาคมหรือ สาธารณูปโภค ฯลฯ ในฐานะผู้ที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศไทย อันเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญสู่การขับเคลื่อนประเทศของภาครัฐ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ ผ่านการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 81 ปี จึงได้ผนึกเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ นายบุญชู ตรีทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้อุทิศตัวให้กับการพัฒนาการศึกษาไทย เพื่อผลักดันคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์ลำปาง สู่การเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของภาคเหนือ” ผ่านกรอบความร่วมมือ “เครือข่ายสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์ลำปาง” ที่มุ่งสร้างบุคลากรในพื้นที่ทั้ง 17 จังหวัด ให้มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ พร้อมเตรียมเปิดสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ในปี 2560 เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือที่มีการขยับขยายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนารากฐานความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
“จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในปี 2557 พบว่าสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรการสอนในกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์ มีจำนวน 139 แห่ง จากจำนวนสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 169 แห่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 82% อีกทั้งจากข้อมูลของ สสวท. ระบุว่าในแต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ได้เพียง 8 คน ต่อประชากร 10,000 คน ในขณะที่สังคมยังคงมีความต้องการบุคลากรในด้านนี้สูงกว่า 10% ของจำนวนประชากรไทยในวัยแรงงาน”
ด้านรศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการร่วมมือกันครั้งแรกระหว่าง มธ.ศูนย์ลำปาง สสวท. สพฐ. และ นายบุญชู ตรีทอง โดยในส่วนของ สสวท. ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรของคณะฯ ให้มีความเข้มข้นและครบถ้วนในเนื้อหาสาระ รวมทั้งให้คำแนะนำในการจัดหาคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาทำการสอน ขณะที่ สพฐ. ได้ร่วมดำเนินการประสานความร่วมมือกับโรงเรียนในเครือ ผ่านการกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่างๆ อาทิ การจัดทีมบุคลากรเข้าไปประชาสัมพันธ์หลักสูตร และจัดอบรมให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์มากขึ้นตามลำดับ ฯลฯ ทั้งนี้ นักเรียนที่เข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ศูนย์ลำปาง จะได้รับ “ทุนวิทยาศาสตร์ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยคุณบุญชู ตรีทอง” ทุนเรียนฟรีจากนายบุญชู ตรีทอง เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ในชั้นปี 1 และจะได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง ในชั้นปี 2-3 จำนวน 30,000 และ 50,000 บาท ตามลำดับ เมื่อมีผลการเฉลี่ยดีมากตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด พร้อมทั้งยังมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาที่สนใจ