“ไออีซี” กวาดงานกว่า130ล้าน
ส่งเม็ดพลาสติกฯให้ 8 บริษัท
“ไออีซี” เจ๋งโชว์ผลงานเด่นต้นปี 59 ประเดิมกวาด Backlog ส่งเม็ดพลาสติกรีไซเคิลกว่า 130 ล้านบาท ให้กับ 4 บริษัทในประเทศไทย และ 4 บริษัทต่างชาติ โดยใช้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล จ.ระยอง ที่ลงทุนไปกว่า 663 ล้านบาท คาดไตรมาส 2 ปีผลิตเม็ดพลาสติกเต็มรูปแบบ ด้วยเครื่องจักร 16 สายการผลิต ที่มีกำลังผลิตได้ถึง 300 ตันต่อวัน เพื่อสนองความต้องการในตลาดในประเทศกว่า 1,150 ตันต่อเดือน และต่างประเทศอีกราว 2,500 ตันต่อเดือน โดยเฉพาะจีน
ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC ผู้นำทางธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล แจงความคืบหน้าการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลของโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล จ.ระยอง ว่า ขณะนี้โครงการโรงงานผลิตเม็ดรีไซเคิลที่ตั้งอยู่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ซึ่งได้ใช้เงินลงทุนจำนวน 663 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการติดตั้งเครื่องจักรในเฟสที่หนึ่งจำนวน 6 สายการผลิต โดยเมื่อติดตั้งครบ 6 สายการผลิตจะสามารถผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้ประมาณ 100 ตันต่อวัน
ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 IEC วางแผนที่จะผลิตเม็ดพลาสติกเต็มรูปแบบ โดยติดตั้งเครื่องจักรจำนวน 16 สายการผลิต ซึ่งคาดว่าหลังการติดตั้งแล้วเสร็จจะสามารถผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้ถึง 300 ตันต่อวัน บริษัทฯเชื่อว่าหลังจากติดตั้งครบทุกสายการผลิต ผลผลิตจะสามารถตอบสนองตลาดเม็ดพลาสติกที่มีความต้องการอย่างมากในประเทศจีน
ซึ่งขณะนี้ทาง IEC ได้รับความเชื่อมั่นในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลของบริษัทฯ โดยมีการเซ็นสัญญากับผู้ซื้อเม็ดพลาสติกรีไซเคิลอย่างเป็นทางการ กับผู้ประกอบการผลิตพลาสติก 8 บริษัท คือ บริษัทในประเทศไทย: CMT Polymer, เดก้า คัลเลอร์โปร, แสงรุ่งเรือง, KP holding , Mega Polymer บริษัทจากประเทศจีน: บริษัท Lianda (Zhajiagang, China), Guorui Plastic (Gvangzho, China) และบริษัทจากประเทศมาเลเซีย: บริษัท Asarama (Klang, Malaysia)
ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช กล่าวต่อไปว่า เม็ดพลาสติกรีไซเคิลของ IEC ขณะนี้ได้รับความสนใจจากบริษัททั้งในประเทศ และต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทภายในประเทศเหล่านี้มีความต้องการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลรวมประมาณ 1,150 ตันต่อเดือน ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ให้ความสนใจและมีความต้องการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมากที่สุดคือบริษัท CMT polymers โดยมีความต้องการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงถึง400-500 ตันต่อเดือน
ส่วนบริษัทในต่างประเทศที่ให้ความสนใจนั้น มีความต้องการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลรวมกันประมาณ2,500 ตันต่อเดือน ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ให้ความสนใจและทำการตกลงทำสัญญาซื้อขายเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคือบริษัท Assarama ประเทศมาเลเซีย โดยบริษัทดังกล่าวมีความต้องการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงสุดถึง 2,000 ตันต่อเดือน
“บริษัทมั่นใจว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลของ IEC จะเข้าไปทดแทนความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศในอนาคตได้อย่างแน่นอน” ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช กล่าวสรุปในตอนท้าย