คาดกนง.คงดอกเบี้ย1.50%
จับตาเศรษฐกิจจีน-ราคาน้ำมัน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาด กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 หลังเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณบวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงทางด้านลบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เช่น การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมัน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งก่อนในวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเงินยังอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลาย เช่นเดียวกับทิศทางของค่าเงินบาทที่เกื้อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องจับตาดูปัจจัยทางด้านเสถียรภาพ และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ
ด้านภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 เศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาครัฐ ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร่งดำเนินการ เช่น การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 59 (ต.ค.-ธ.ค.58) มียอดเบิกสะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีจากการนำใบกำกับภาษีรวมไม่เกิน 15,000 บาทมาลดหย่อน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ไม่มากก็น้อย
จากมาตรการในข้างต้น โมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มเป็นบวก และจะได้รับแรงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะเริ่มมีการก่อสร้างในปีนี้ ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบราว 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตาม ประกอบกับมาตรการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน เช่น มาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อรวมกับมาตรการซอฟท์โลนให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่ออกมาในช่วงก่อนหน้า จะช่วยให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมปรับตัวดีขึ้น ด้านการบริโภคภาคเอกชนก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภค จากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการบริโภคสินค้าคงทน
ดังนั้น ท่ามกลางแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐและการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 นี้
อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับหลากหลายความเสี่ยง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและทิศทางของอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงแรกได้แก่ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกของไทย ดังนั้น หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมากกว่าคาด การส่งออกของไทยก็มีแนวโน้มจะหดตัวลงมากกว่าที่มีการประเมินไว้เช่นกัน
อีกหนึ่งผลกระทบที่ตามมา ได้แก่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ ดังนั้น เมื่ออุปสงค์จากจีนชะลอตัว ราคาก็ย่อมปรับลดลง และจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลงตามไปด้วย เมื่อรวมกับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 ที่อาจรุนแรงกว่าปีก่อน แนวโน้มรายได้ของเกษตรกรรวมถึงการบริโภคจึงดูไม่สู้ดีนัก หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งคือการบริโภคภาคเอกชนยังมีความเปราะบางอยู่มาก
นอกจากความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากราคาน้ำมันมีผลกระทบโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อ ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์มีแนวโน้มปรับขึ้นจากฐานราคาน้ำมันในระดับสูงค่อยๆ ทยอยหมดไป แต่หากราคาน้ำมันปรับลดลงอีก อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร้อยละ 1.0 – 4.0 และจะส่งผลให้ กนง. ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้
โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังได้รับแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นในช่วงท้ายปี 2558 รวมกับแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะต้องเผชิญกับหลายๆความเสี่ยง ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และส่งผลต่อทิศทางของดอกเบี้ยนโยบาย