เอ็นเทอร์ด็อครุกบันเทิงออนไลน์
ชู “คอสมิกเอสเส” ต่อยอดธุรกิจ
เปิดตัว บริษัท เอ็นเทอร์ด็อค จำกัด ผู้ให้บริการเนื้อหาด้านการ์ตูนโดยเฉพาะผ่านเว็บไซต์ “Omelet.in.th” และ “Anitime.in.th” รวมทั้งสื่อในเครือและจัดตั้งบริษัทประกอบธุรกิจให้บริการสื่อโฆษณา ภายใต้การนำของ นายชลากร สถิวัสส์ กรรมการผู้จัดการ และนายณิชนันทน์ เหรียญสมบัติ บรรณาธิการเว็บไซต์ พร้อมทีมงานมากประสบการณ์ คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่แน่นด้วยประสบการณ์และความชำนาญในโลกไซเบอร์
นายชลากร สถิวัสส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นเทอร์ด็อค จำกัด เปิดเผยว่า เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันออกไป แต่เห็นโอกาสและความท้าทายที่ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าออกสู่สังคมผ่านช่องทางออนไลน์ที่เปิดกว้าง โดยเลือกที่จะสื่อสารสาระบันเทิงผ่านตัวการ์ตูน ที่เรียกว่า การ์ตูนประกอบบทความ หรือ คอสมิกเอสเส (Comic Essay) ช่วยย่อยข้อมูล ประเด็นที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย ถ่ายทอดผ่านตัวการ์ตูนที่ปัจจุบันได้รับความนิยมสูงขึ้น จนสร้างแรงบันดาลใจให้ได้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่อยู่ใกล้แค่มือคว้า และนำมาสู่การก่อตั้ง บริษัท เอ็นเทอร์ด็อค จำกัด เพื่อให้บริการโฆษณา ผลิตเนื้อหา สื่อดิจิทัลและสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน โดยธุรกิจหลักของเอ็นเทอร์ด็อคคือการบริหารเว็บไซต์ Omelet.in.th และ Anitime.in.th ให้บริการสื่อโฆษณาและบริการผลิตสื่อการ์ตูนสำหรับลูกค้าองค์กร
“เอ็นเทอร์ด็อค อาจถูกมองว่าเป็นหน้าใหม่ในทางธุรกิจ แต่ด้วยความมุ่งมั่น พลังใจ ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นคนรุ่นใหม่ที่พร้อมปรับตัวให้เข้ากับพลวัตของธุรกิจออนไลน์ น่าจะสร้างข้อได้เปรียบให้กับเอ็นเทอร์ด็อคไม่น้อย ประสบการณ์ที่เอ็นเทอร์ด็อคสะสมมาถูกพิสูจน์แล้วว่าได้รับการยอมรับในวงกว้าง และมันสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ นี่คือตัวชี้วัดว่าความหลงใหลและความชำนาญในการเป็นผู้ผลิตสื่อสาระที่ปรารถนาจะยกระดับอุตสาหกรรมการ์ตูนไทยของเอ็นเทอร์ด็อคนั้น ชัดเจน แน่วแน่เห็นได้จากผลงานที่เราร่วมกันสร้างมา เอ็นเทอร์ด็อคจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ผลิตหลักในอุตสาหกรรมการ์ตูนในประเทศไทยและบุกเบิกธุรกิจที่เกี่ยวข้องภายในปี 2021 ด้วยการคัดสรรนักเขียนการ์ตูนที่มีฝีมือและให้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับความตั้งใจของนักเขียนและคุณค่าของเนื้อหา พร้อมต่อยอดผลงานสู่สินค้า B2C ที่เพิ่มมูลค่า สอดประสานกับภาคบริการขายสื่อและบริการที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนที่สร้างคุณค่าแก่ลูกค้า B2B” นายชลากร สถิวัสส์กล่าว
นายณิชนันทน์ เหรียญสมบัติ หนึ่งในหุ้นส่วนบริษัทฯ รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการเว็บไซต์หลักของเอ็นเทอร์ด็อคซึ่งได้แก่เว็บไซต์ Omelet.in.th และเว็บไซต์ Anitime.in.th กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยผ่านงานจัดทำนิตยสารออนไลน์ชื่อ ePICK Magazine ซึ่งเป็นนิตยสารการ์ตูนและบทความวาไรตี้รายเดือน เผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 11 มกราคม 2557 และ 1 ปี ต่อมาได้แยกส่วนบทความของอีพิคออกมาเป็นนิตยสารอีกฉบับ นั่นคือ Omelet Magazine ซึ่งได้รับผลตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี ซึ่งต่อมาได้ต่อยอดประสบการณ์ดังกล่าวมาสู่โลกโซเชียลโดยมุ่งเน้นนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ผ่านสื่อการ์ตูนให้กับผู้อ่านภายใต้แนวคิด “สาระที่จำเป็นต่อชีวิตที่ไม่มีที่ไหนสอน” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้กลุ่มผู้อ่านหรือบุคคลทั่วไปสามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้ซึ่งจะเท่ากับเพิ่มการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมการ์ตูนในประเทศได้ขยายตัวขึ้น
“การอ่านหนังสือการ์ตูนเป็นสื่อที่ไม่เพียงแต่จะสนุกสนาน เข้าใจง่าย สามารถแฝงสาระความรู้ หรือแนวคิดต่างๆ ให้แก่คนได้ทุกเพศทุกวัย การสะสมประสบการณ์ผ่านงานด้านนิตยสาร การเรียนรู้เพิ่มเติมด้านการออกแบบ เพิ่มเสน่ห์ให้งานเขียนเพื่อสื่อสารผ่านการ์ตูนกับคนจำนวนมาก กลายเป็นความท้าทายที่น่าหลงใหล จนนำมาสู่โอกาสที่เราได้รับคือทุนสนับสนุนการจดทะเบียนเป็นบริษัทบริการออกแบบสื่อการ์ตูนครบวงจร จึงได้ย้ายแพลตฟอร์มนิตยสารออนไลน์ที่มีอยู่เดิมมาสู่การเป็นเว็บไซต์ Anitime.in.th เว็บไซต์รวบรวมบทความ ข่าวสาร ในวงการการ์ตูน และเว็บไซต์ Omelet.in.th เว็บไซต์สาระความรู้ในรูปแบบการ์ตูนในปัจจุบัน” บรรณาธิการเว็บไซต์หลักของเอ็นเทอร์ด็อคกล่าว
สำหรับเว็บไซต์ Omelet.in.th หรือ “ออมเล็ต” มีเนื้อหาประกอบด้วยการ์ตูนคอมิกเอสเส 4 หมวด ได้แก่ ไลฟ์สไตล์ การวางแผนชีวิต เกร็ดความรู้และขำขัน เผยแพร่ทางเว็บไซต์ควบคู่กับแฟนเพจ facebook.com/ReadOmelet ที่มีแรงตอบรับอย่างล้นหลาม อาทิ เรื่อง ‘ทาสสมัยใหม่’ ซึ่งเป็นตอนพิเศษเนื่องในวันปิยมหาราช เนื้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในปัจจุบัน ได้รับการแชร์มากกว่า 2,000 ครั้ง เข้าถึงผู้อ่านกว่า 4.6 แสนคน และภาพในเรื่องถูกเปิดชมกว่า 1.5 ล้านครั้ง และเรื่อง ‘คุยเฟื่องเรื่องกัญชา’ ซึ่งชี้เหตุผลของผู้สนับสนุนและคัดค้านการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย ท่ามกลางกระแสสังคมเกี่ยวกับการเปิดเสรีกัญชาในประเทศไทย ได้รับการแชร์เกือบ 6 พันครั้ง เข้าถึงผู้อ่าน 7.3 แสนคน และภาพในเรื่องถูกเปิดชมกว่า 1.3 ล้านครั้ง ความนิยมดังกล่าวทำให้แฟนเพจของออมเล็ตมียอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้นกว่าหมื่นไลค์ภายในสัปดาห์เดียว รวมถึงการได้รับความไว้วางใจให้เผยแพร่เนื้อหาในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในคอลัมน์ ‘การ์ตูน…ต้นซอย’ ทุกวันอาทิตย์ โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทในส่วนนี้ประกอบไปด้วย สื่อโฆษณาแบบ Tie-in, กิจกรรมการตลาด Event marketing, การบริหารลิขสิทธิ์คาแร็คเตอร์, การผลิตสื่อการ์ตูน และการให้เช่าพื้นที่โฆษณา
ส่วนเว็บไซต์ Anitime.in.th หรือ “อนิไทม์” เป็นเว็บไซต์บทความเกี่ยวกับการ์ตูนเพื่อกลุ่มผู้อ่านการ์ตูนโดยเฉพาะ ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ประเภทหลักได้แก่ข่าวสารและบทความ ตอบรับทุกแนวความสนใจของผู้อ่านการ์ตูน อาทิ บทความรีวิวสินค้าการ์ตูน บทความเจาะลึกเบื้องหลังการ์ตูน บทความเยี่ยมชมบริษัทการ์ตูนต่างๆ บทสัมภาษณ์บุคคลผู้มีชื่อเสียงในวงการ เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้อ่านและบริษัทการ์ตูนเจ้าต่างๆ ที่ช่วยเผยแพร่บทความ ทำให้อนิไทม์เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้อ่านมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน อนิไทม์มีผู้อ่านรวมแล้วกว่า 2.2 แสนท่าน ซึ่งผลิตภัณฑ์ในส่วนนี้ประกอบไปด้วยบทความ Sponsored Content กิจกรรมการตลาด และพื้นที่เพื่อการโฆษณา