TMB คาดBOJดอกเบี้ยติดลบ
ดีต่อเศรษฐกิจ-ตลาดทุนไทย
TMB Analytics คาด BOJ กำหนดอัตราดอกเบี้ย 3 ขั้นซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่สุดอยู่ที่ -0.1% จะส่งผลด้านบวกต่อไทย 2 ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านตลาดทุน ญี่ปุ่นมีสภาพคล่องดี เยนอ่อนดีต่อส่งออกและเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่งผลดีต่อส่งออกไทยทางอ้อม ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลบวกมากที่สุดคือ ภาคยานยนต์ ส่วนด้านตลาดทุนคาดมีเงินลงทุนไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก
ภาพ-http://www.innnews.co.th/
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan: BOJ) มีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ที่5 ต่อ 4 ให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของเงินที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นฝากไว้กับ BOJ จากเดิมที่ 0.1% มาเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3 ขั้นซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่สุดอยู่ที่ -0.1% (อัตราดอกเบี้ย 3 ขั้น ได้แก่ 0.1%, 0% และ -0.1% ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นฝากไว้กับ BOJ) ขณะที่วงเงินที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเดิม ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี
TMB Analytics หรือ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หน่วยงานทำหน้าที่วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจในระดับมหภาคคาดว่า ปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลบวกต่อไทยในสองด้านคือด้านเศรษฐกิจและด้านตลาดทุน โดยในส่วนของเศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มีมุมมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของ BOJ ดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นเสมือนการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้น อีกทั้งนโยบายดังกล่าวก็ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่นอีกด้วย และเมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตได้ดี ภาคการส่งออกของไทยก็จะได้รับผลในเชิงบวกตามมาด้วย โดยในปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นมีมูลค่าอยู่ที่ 20,075.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นราว 9.4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยคาดว่าอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลบวกมากที่สุดคือภาคยานยนต์
ด้านตลาดทุน หลังจากที่ BOJ ปรับอัตราดอกเบี้ยลง จะเห็นได้ชัดเจนว่า เริ่มมีเงินลงทุนไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก เห็นได้ชัดจากผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลงไปอยู่ที่ระดับ 0.1% (-14bps) อย่างรวดเร็วและผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีก็ปรับตัวลงแรงตามไปที่ระดับ 1.92% (-13bps) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน ด้านตลาดหุ้นดัชนีนิเคอิญี่ปุ่นปรับตัว +3.3% ดาวโจนส์ปรับตัว +2.2% แด๊กซ์เยอรมัน +2.06% และเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตที่ +3.09% ในช่วงสัปดาห์ก่อนก็เป็นอีกสัญญาณที่ชี้ชัดว่าเริ่มมีเงินทุนไหลเข้าตลาดทุนแล้ว ด้านตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ก่อนปิดที่ระดับ 1,300 จุด ปรับตัวขึ้น 32 จุดจากสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้ผลตอบแทน year-to-date ปรับตัวขึ้นมาเป็น +1.01% ด้านผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีก็ปรับตัวลงหนักจากแรงซื้อของทั้งผู้ค้าไทยและต่างประเทศเช่นกัน จนส่งผลให้ผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีอยู่ที่ระดับ 2.30% (-19bps) เท่านั้นในท้ายสัปดาห์
ศูนย์วิเคราะห์ฯ มีมุมมองว่าเงินลงทุนดังกล่าวจะยังไหลเข้าตลาดทุนทั้งในหุ้นและตลาสารหนี้ในระยะสั้น และเชื่อว่าผู้ค้าในตลาดจะเริ่มมีความคาดหวังว่าธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ธนาคารกลางจีน (PBOC) และ ธปท. จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันเร็วๆนี้