TMB ชี้ความเชื่อมั่นSMEฟื้น
ห่วงกำลังซื้อชะลอตัวฉุดธุรกิจ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม 1,276 กิจการทั่วประเทศ พบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ปลายปีฟื้นตัวโดดเด่น ไตรมาส4 ปี 2558 อยู่ที่ 40.5 ปรับขึ้นจากระดับ 34.2 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 จากไตรมาสก่อนหน้า เหตุแรงหนุนจากการใช้จ่ายช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว บวกมาตรการรัฐ ช่วยพยุงกำลังซื้อประชาชนช่วงปลายปี แต่ยังห่วงปัจจัยลบฉุดเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อชะลอตัวอีกรอบในปีนี้
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 4/2558 จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME 1,276 กิจการทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 40.5 ปรับขึ้นจากระดับ 34.2 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมที่ผ่านมา ความกังวลทางด้านรายได้ของธุรกิจที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดต่อเนื่องและเป็นช่วงเทศกาล ซึ่งมีการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคค่อนข้างมากกว่าไตรมาสก่อน ประกอบกับเริ่มเข้าฤดูกาลท่องเที่ยวของทั้งภาคเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคมีความคึกคักและมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นกว่าช่วงไตรมาสที่ผ่านมา
“ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากที่ปรับลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องจากเจ้าของธุรกิจมีความเชื่อมั่นด้านรายได้สูงขึ้นกว่าไตรมาส 3 จากภาวะเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่มีการจับจ่าย บริโภค ท่องเที่ยว และมีมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลออกมาเพิ่มบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดีในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี” นายเบญจรงค์กล่าว
ส่วนความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าพบว่า ดัชนีอยู่ที่ 56.9 ปรับขึ้นจากระดับ 53.1 หรือเพิ่มขึ้น 7.15 จุด สูงกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจช่วงต้นปีหน้า(มกราคม-มีนาคม 2559) น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 เนื่องจากแรงส่งจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศช่วงปลายปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี และแรงส่งจากมาตรการภาครัฐฯ ที่ทยอยออกมากระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นไตรมาส 4/2558 ยังคงส่งผลต่อเนื่องในครึ่งแรกของปี 2559
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศร้อยละ 60.9 ยังรู้สึกกังวล “ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อชะลอตัว” แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่ดีขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลในประเด็นนี้ลดลงจากร้อยละ 63.9 ในไตรมาส 3 แต่ก็ถือว่ายังเป็นความกังวลในระดับที่สูง โดยผู้ประกอบการ SME ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือกังวลในประเด็นดังกล่าวสูงเป็นอันดับ 1 และ 2 คือ ร้อยละ 65.0 และ 64.8 ตามลำดับ สาเหตุเนื่องจากภาคใต้ได้รับผลกระทบจากราคายางพาราที่ยังไม่มีทีท่าจะปรับเพิ่มขึ้น ราคาปาล์มน้ำมันยังคงต่ำ และปัญหาในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลที่ไม่กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงได้รับผลลบจากราคาข้าวที่ลดลง ขณะที่ผลผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
“แม้ว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจในประเทศจะค่อนข้างชะลอตัวและกำลังซื้อในประเทศมีจำกัด จนทำให้ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการลดลงอย่างมาก แต่ช่วงสุดท้ายของปี เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของความเชื่อมั่น เนื่องจากการการกลับมาของกำลังซื้อและบรรยากาศของเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น หากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถรักษาบรรยากาศของเศรษฐกิจในประเทศให้ดีอย่างต่อเนื่องต่อไปถึงไตรมาส 2 ปีนึ้ได้ คาดว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะฟื้นตัวได้ในระยะยาว” นายเบญจรงค์สรุป