วท.พร้อมทำหมัน “ยุงลาย”
หวังลดปริมาณมฤตยูนำโรคสู่คน
สทน. ร่วม มหาวิทยาลัยมหิดลและ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในโครงการทำหมันยุง ระบุสทน.พร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและห้องปฏิบัติการการฉายรังสี เพื่อฉายรังสียุงลาย และร่วมทดสอบในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สามารถผลิตยุงลายที่เป็นหมันให้เพียงพอ ต่อการลดยุงลายในธรรมชาติ และทำให้การเกิดโรคที่ยุงลายเป็นพาหะลดลง ชี้การฉายรังสีทำช่วงดักแด้ (ตัวโม่ง) ของยุง เลือกยุงตัวผู้มาฉายให้เป็นหมัน เมื่อเป็นตัวจะเป็นหมัน และไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในธรรมชาติก็จะไม่มีการวางไข่ ตัดวงจรกรกำเนิดยุงในรุ่นต่อๆไป
ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดเผยว่า หลังจากมีการเปิดเผยเรื่องการทำหมันยุงโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อลดปริมาณยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ไวรัสซิก้า ไวรัสเดงกี ซึ่งโรคดังกล่าวทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของประชาชนชาวไทยจำนวนมาก สทน. ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อการทำหมันแมลง พร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและห้องปฏิบัติการการฉายรังสี เพื่อฉายรังสียุงลาย และร่วมทดสอบในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สามารถผลิตยุงลายที่เป็นหมันให้เพียงพอ ต่อการลดยุงลายในธรรมชาติ และทำให้การเกิดโรคที่ยุงลายเป็นพาหะลดลง
“เราจะรับผิดชอบในขั้นตอนการฉายรังสีให้ยุงลายเป็นหมัน ซึ่งหน้าที่นี้เป็นขั้นตอนสำคัญ และถือว่าเป็นความเชี่ยวชาญของ สทน. เพราะ สทน.ประสบความสำเร็จในการฉายรังสีแมลงวันผลไม้ จนสามารถพัฒนาพันธุ์แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันที่เป็นพันธุ์เฉพาะของประเทศไทยได้ และ สทน.มีโรงเลี้ยงแมลง และฉายรังสีแมลงขนาดใหญ่พร้อมฉายรังสีแมลงหรือยุงในปริมาณมากๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ห้องปฏิบัติการฉายรังสีแห่งนี้ได้รับการรับรองจาก ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ให้เป็นปฏิบัติการฉายรังสีในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ซึ่งสทน.มีความพร้อม 100% ในการร่วมปฏิบัติงานในโครงการทำหมันยุงครั้งนี้” ผู้อำนวยการ สทน.กล่าว
ด้านนายวณิช ลิ่มโอภาสมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ สทน. เปิดเผยว่า ยุงเป็นปัญหาระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การทำให้ยุงเป็นหมัน เพื่อลดปริมาณยุงนั้น โดยหลักๆ มี 3 วิธี โดยวิธีแรกทำให้เป็นหมันโดยการตัดต่อพันธุกรรม ขณะนี้มีบริษัทเอกชนที่อังกฤษ นำไปใช้และดำเนินการอยู่ในบราซิล แบบที่ 2 คือ การใส่เชื้อแบคทีเรียในช่วงที่ยุงเป็นไข่ ทำให้ยุงที่ฟักออกมา หากเป็นตัวผู้จะเป็นหมันทันที แต่ถ้าเป็นตัวเมียก็จะเป็นพาหะที่เมื่อไปผสมพันธุ์อาจจะเป็นหมันในรุ่นต่อไป เทคนิคนี้ ใช้อยู่ในจีน ในออสเตรเลีย สุดท้ายก็คือการฉายรังสีเพื่อในยุงเป็นหมัน ซึ่งเริ่มมีการใช้เทคนิคนี้ในอเมริกา ฝรั่งเศส ซึ่งประเทศไทยเราเองมีความพร้อมในด้านนี้
นายวณิช กล่าวว่า ไอเออีเอ ได้มีการทดลอง และงานวิจัยอยู่ส่วนหนึ่ง ฉะนั้นโครงการในเมืองไทยเราก็ถือว่าโชคดีอาจจะไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์โดยสามารถอาศัยผลการวิจัยของไอเออีเอ ที่ระบุว่าใช้ปริมาณรังสีฉายยุงในปริมาณ 70 เกรย์ จะทำให้ยุงเป็นหมัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เรามีข้อมูลเบื้องต้น แต่อย่างไรก็ตามทาง สทน.ต้องทดลองเพิ่มเติม เพราะพันธุ์ของยุงอาจจะมีความแตกต่างกัน สภาพแวดล้อมของเราก็ต้องจากประเทศอื่นๆ ปริมาณรังสีอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงบ้าง ซึ่งขณะนี้ทราบปริมาณรังสีที่เหมาะสมในการฉายให้ยุงแล้วอยู่ที่ประมาณ 60-70 เกรย์ ไม่แตกต่างจากผลวิจัยของไอเออีเอมากนัก
“ขั้นการฉายรังสีจะกระทำในช่วงดักแด้ (ตัวโม่ง) ของยุง โดยเลือกยุงตัวผู้มาฉายให้เป็นหมัน และเมื่อยุงออกมาเป็นตัวแล้วก็จะเป็นหมัน เมื่อไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในธรรมชาติก็จะไม่มีการวางไข่ ก็ทำให้ตัดวงจรกรกำเนิดยุงในรุ่นต่อๆไป ปริมาณยุงที่มีอยู่ก็จะลดลง แต่สิ่งที่ต้องทดลองและศึกษาเพิ่มเติมคือ ระยะเวลาที่ต้องให้ยุงแข็งแรงหลังจากออกมาเป็นตัวเต็มไวก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติ ความสามารถในการผสมพันธุ์ว่าสามารถแข็งขันก็ยุงที่อยู่ในธรรมชาติได้ดีเพียงใด เพราะหากมีความสามารถผสมพันธุ์ได้ต่ำปริมาณยุงที่ต้องปล่อยออกสู่ธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน ความถี่ในการปล่อยมีมากน้อยเพียงใด แหล่งที่ต้องปล่อยให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถลดปริมาณยุงได้จริง
โครงการการทำหมันยุงเพื่อลดปริมาณยุงลายพาหะนำโรคร้ายในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือหน่วยงานต่างๆทั้งภายในประเทศและนานาชาติ และด้วยความสามารถและประสบการณ์ของนักวิจัย และห้องปฏิบัติการฉายรังสีที่มีความพร้อมจะสามารถร่วมดำเนินโครงการ การทำหมันยุงลาย เพื่อลดปริมาณยุงอันเป็นพาหะนำโรคร้ายสู่ประชาชนชาวไทยได้สำเร็จ และเป็นคนไทยปลอดภัยจากยุงลายในที่สุด
สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงานในประเทศได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล สทน. และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ภาพ-ยุง www.bloggang.com