มธ.จับมือผู้ผลิตญี่ปุ่นเสริมแกร่ง
ดันไทย “ฮับอุตฯยานยนต์ไฟฟ้า”
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) ลงนามความร่วมมือบริษัท FOMM Corporation ประเทศญี่ปุ่น และ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ผลักดันศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดทดสอบ “รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า” รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็ก 4 ที่นั่ง วิ่งได้ในสภาพน้ำท่วมขังและสะดวกถอดเปลี่ยนและชาร์จด้วยไฟบ้านได้ เพื่อเป็นกรณีศึกษา ในการวิจัยต่อยอด ทดสอบสมรรถนะ วิเคราะห์ความต้องการตลาดสำหรับออกแบบการผลิต ดันไทย“ฮับ” ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอาเซียน
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งเน้นการศึกษาวิจัย และผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนอุตสาหกรรมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมอันเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยล่าสุด มธ.ได้จับมือกับ FOMM Corporation เปิดทดสอบ “รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า” ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกของไทย พร้อมเตรียมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในเชิงองค์ความรู้ เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการ “เครือข่ายศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย สาขาสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายร่วมในการให้บริการและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษากับภาคเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศ ในด้านการพัฒนากำลังคนและสินค้านวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ศาสตราจารย์ ดร. สมนึก ตั้งเติมสิริกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) กล่าวเสริมว่า สำหรับการดำเนินเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าว ทาง FOMM Corporation บริษัทผู้บุกเบิกผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น ได้ส่งมอบ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้นแบบ” จำนวน 1 คัน เพื่อใช้ในโครงการความร่วมมือทดสอบสมรรถนะและการใช้งานภายใต้สภาพแวดล้อมของไทยซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเครือข่ายฯ ในการพัฒนางานวิจัย และบุคคลากรร่วมกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม
โดยนักศึกษา นักวิจัยและคณาจารย์ของสถาบัน จะได้ร่วมทดสอบสมรรถนะภายในมหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยและวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ตลอดจนประเมินแนวทางการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ที่สูงขึ้น เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน ผ่านการปรับโครงสร้างให้มีพื้นฐานที่เหมาะสม อาทิ การบริการสถานที่ชาร์จแบตเตอรี ระยะทางที่เหมาะสมในการจัดวางสถานี พฤติกรรมการขับขี่ที่ประหยัดพลังงานและปลอดภัย ระบบติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ขับขี่กับยานยนต์ และระบบอำนวยความสะดวกต่อผู้ขับขี่
ด้านนายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยังกล่าวอีกว่า บางจากฯ มีสถานีบริการน้ำมันกระจายอยู่กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ จึงมีความพร้อมที่จะจัดเตรียมให้สถานีบริการน้ำมันบางจากเป็นจุดให้บริการชาร์จไฟและถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมทั้งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดย่อม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ทั้งนี้ การร่วมมือกับ FOMM Corporation และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะนำพาประเทศไทยสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและอนาคตที่ดีของคนไทย
ฝ่ายมร.ฮิเดโอะ สึรุมากิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท FOMM Corporation ได้นำเสนอจุดเด่นของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ได้พัฒนาปรับปรุงขึ้นมาเป็นรุ่นที่สามแล้ว โดยเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาด 4 ที่นั่ง ที่เล็กที่สุดคันแรกของโลก(เปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557) มีการออกแบบตัวถังรถให้กันน้ำ (Bath Tub Design) และมีขอบล้อที่มีลักษณะเป็นใบพัด ทำให้สามารถลอยตัวและขับเคลื่อนได้ในน้ำ แบตเตอรี่ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักได้ถูกออกแบบให้เป็นรูปแบบของคาสเซ็ท(Cassette) ทำให้สะดวกต่อการถอดเปลี่ยนและชาร์จได้ด้วยไฟบ้านทั่วไป ภายในติดตั้งด้วยระบบทำความเย็นกำลังสูงและประหยัดพลังงาน และมีระบบส่งกำลังแบบเฉพาะโดยมีมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนภายในล้อ (In-Wheel Motor Design)
ทั้งนี้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าถือเป็นกลุ่มสินค้านวัตกรรมอนาคตไกลที่มีโอกาสในการเติบโตสูงจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าตลาดโลกจะมีความต้องการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าประมาณ 541,000 คัน ในปี 2562 (จากความต้องการประมาณ 40,000 คัน ในปี 2554)
สำหรับประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับแนวหน้าของอาเซียน ซึ่งสะท้อนผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern seaboard) นั้นถือได้ว่ามีศักยภาพทั้งในด้านบุคลากรและแหล่งวัตถุดิบที่จะสามารถต่อยอดประเทศไทยไปสู่การเป็น “ฮับ” ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำแห่งอาเซียนได้
อย่างไรก็ตาม รถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นยังเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาและพัฒนา โดยความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยนำมาซึ่งองค์ความรู้ที่ทันสมัย ตลอดจนช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในเชิงนวัตกรรม อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมแกร่งอุตสาหกรรมหลักของไทยให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศอย่างก้าวกระโดด สอดคล้องกับนโยบายที่ภาครัฐกำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน