ก.วิทย์ลุย ‘Food Innopolis’
ประสานรัฐดึงเอกชนตั้งศูนย์วิจัย
สวทน. กระทรวงวิทย์ฯ เดินหน้าเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis คืบหน้า ประสานภาครัฐ เร่งเจรจาดึงเอกชนด้านอาหารร่วมผลักดันจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสู่การเป็นฮับนวัตกรรมอาหารของโลก ระบุเตรียมพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยรองรับกว่า 2หมื่นตร.ม. พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกให้เริ่มทำวิจัยพัฒนาได้ฉับไว พร้อมเชื่อมโยงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหนุนเอกชนสร้างนวัตกรรมอาหาร มีหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัยกว่า 20 แห่งร่วมดูแลศูนย์อำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจอาหารหรือ One Stop Service Center
ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 นายสมคิด จุตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ข้อเสนอแนะเรื่องการดำเนินการขับเคลื่อนการจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ประสานงานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดึงภาคเอกชนรายใหญ่มาร่วมผลักดัน และเดินสายโร้ดโชว์ในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างเครือข่ายในทุกภูมิภาคของโลกนั้น ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการสวทน. กล่าวว่า ขณะนี้ สวทน. จะมีการหารือซีอีโอ 6 บริษัทอาหารรายใหญ่ในวันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อหารือความร่วมมือและเชิญชวนร่วมกันพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหารของประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ
จากนั้นในวัน 23 กุมภาพันธ์ นี้ สวทน. ร่วมกับ JETRO จัดสัมมนาให้กับบริษัทญี่ปุ่นด้านอาหารที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยอยู่แล้วกว่า 50 บริษัท เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาจัดตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมใน Food Innopolis หลังจากนั้นสวทน. ยังมีแผนในการเดินสายโร้ดโชว์เชิญชวนบริษัทอาหารชั้นนำของโลกในหลายประเทศเรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มจากในช่วง 8-12 มีนาคม นี้ จะเข้าร่วมงาน FOODEX Japan 2016 ซึ่งเป็นงานนิทรรศการแสดงนวัตกรรมอาหารระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย ในงานดังกล่าวคาดว่าจะมีผู้ประกอบการกว่า 2,500 ราย จากญี่ปุ่นและกว่า 80 ประเทศทั่วโลก มีผู้เข้าชมงานกว่า 75,000 คน จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาใน Food Innopolis รวมทั้งประชาสัมพันธ์ศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก โดยจะนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและคิดค้นขึ้นจากการทำงานวิจัยพัฒนาร่วมกันของบริษัทและหน่วยงานในประเทศไทยไปแสดงในงานนี้ด้วย
ดร.กิติพงค์กล่าวถึง ความคืบหน้าโครงการ Food Innopolis ว่าขณะนี้ได้ดำเนินการจัดเตรียมพื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย บริเวณกลุ่มอาคารนวัตกรรม2 ซึ่งรองรับการจัดตั้งศูนย์วิจัยของบริษัทเอกชนกว่า 20,000 ตร.ม. ไว้เรียบร้อยแล้ว นอกจากความพร้อมด้านสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะช่วยให้บริษัทเริ่มต้นทำวิจัยพัฒนาได้อย่างเร็วแล้ว Food Innopolis ยังมีความพร้อมในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการสร้างนวัตกรรมอาหาร โดยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี้ สวทน. ได้จัดประชุมหารือเพื่อบูรณาการหน่วยงานที่จะร่วมกันดำเนินการศูนย์อำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจอาหารใน Food Innopolis หรือ One Stop Service Center จากทั้งหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัยกว่า 20 แห่ง
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการ Food Innopolis มีนักบริหารธุรกิจมืออาชีพและพนักงานเต็มเวลาเพื่อให้บริการสนับสนุนแก่เอกชนที่จะเข้ามาลงทุนวิจัยพัฒนาใน Food Innopolis เช่น การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การวิเคราะห์ทดสอบ ระบบคุณภาพและมาตรฐาน ระบบตรวจสอบย้อนกลับ การออกแบบและวิศวกรรมเพื่อการผลิต การฝึกอบรมทักษะขั้นสูง การพัฒนาต้นแบบและทดลองผลิต นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์การขนส่งอาหาร และเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการเกษตรและนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น เพื่อดึงดูดให้บริษัทอาหารชั้นนำของโลกทั้งบริษัทต่างประเทศและบริษัทไทยเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมในประเทศไทย ล่าสุดกระทรวงวิทย์ฯ ได้เจรจาทำความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ TUS-Holdings และ Zhongguancun Science Park เพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการจากจีนมาลงทุนใน Food Innopolis
การดำเนินงานจากนี้ต่อไป สวทน. จะจัดตั้งศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service Center เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านงานวิจัยและพัฒนา การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การจัดการแข่งขันนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น
นอกเหนือจากนั้นยังมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีและแรงจูงใจในการลงทุน ซึ่งกระทรวงวิทย์ฯ และ BOI กำลังร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดอยู่
“ขณะนี้ สวทน. กำลังจัดทำรายละเอียดความคืบหน้าการดำเนินการและแผนงบประมาณต่อเนื่อง 5 ปี ต่อไป (2560-2564) ของ Food Innopolis นำเสนอต่อประชุม ครม. ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้” ดร.กิติพงค์ กล่าวทิ้งท้าย