ไทยริชฟูดส์ทำขนมไทยแช่แข็ง
โครงการร่วมลงทุนSME Bank
เอสเอ็มอีแบงก์เผยโครงการร่วมลงทุนของธนาคารคืบหน้า ธนาคารได้อนุมัติในหลักการแล้วจำนวน 3 ราย วงเงินรวม 20 ล้านบาท เดือนม.ค.59ลงทุนไปแล้ว 1 ราย จะลงทุนได้อีก 2 ราย ได้แก่ บริษัทไทยริชฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด ธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมไทยแช่แข็ง จังหวัดปทุมธานี และบริษัท บ้านผลไม้ (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลไม้อบแห้ง จังหวัดเชียงราย เอสเอ็มอีแบงก์เน้นร่วมลงทุนด้านการเกษตรและธุรกิจบริการ
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยถึง โครงการร่วมลงทุนของธนาคารว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการรุดหน้าไปมาก โดยธนาคารได้อนุมัติในหลักการแล้วจำนวน 3 ราย วงเงินรวม 20 ล้านบาท ซึ่งได้ลงทุนไปแล้ว 1 ราย คือ บริษัทฟรุตต้า เนเชอรัล จำกัด เป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นลงทุนได้อีก 2 ราย ได้แก่ บริษัทไทยริชฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด ธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมไทยแช่แข็ง จังหวัดปทุมธานี และบริษัท บ้านผลไม้ (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลไม้อบแห้ง จังหวัดเชียงราย และยังมีกิจการที่สนใจเข้าร่วมลงทุนอีก 6 กิจการ วงเงินรวม 110 ล้านบาท รวมถึงธนาคารยังเพิ่ม Trust Manager ที่มาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาให้ผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีมากถึง 6 ราย
นางตะวัน บุญฤทธิ์ลักขณา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยริช กรุ๊ป จำกัด ( ThaiRichFoods Group) เปิดเผยว่า ได้เริ่มทำธุรกิจมาเป็นเวลา 20 ปีเริ่มจากคณะบุคคล ก่อนมาตั้งบริษัทในเมื่อ 10 ปีก่อน โดยพื้นฐานของตนในการก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจขนมหวานไม่ได้เติบโตจากโรงงาน แต่โตมาจากการเป็นเซลส์มาก่อน จึงมองเห็นช่องทางที่มีอนาคตของขนมหวาน ก่อนที่จะมาจับธุรกิจด้านนี้ เธอทํารีเสิร์ชจนมั่นใจจึงโดดเข้ามาเต็มตัว โดยพุ่งเป้าไปที่ร้านอาหารทั่วไป นําปัญหาหนักอกของเจ้าของร้านอาหารเหล่านั้นมาเป็นชนวนทําธุรกิจขนมหวานแช่แข็ง เนื่องจากร้านอาหารทั่วไปเมื่อทําขนมมาขายแล้ว หากขายไม่หมดต้องเททิ้ง
เธอฉวยโอกาสทํารีเสิร์ชในเรื่องดังกล่าว โดยสอบถามความต้องการของเจ้าของร้านอาหารจนมั่นใจว่า หากทําขนมแช่แข็งมาเสนอร้านอาหารเหล่านี้ ทุกร้านจะต้องแฮปปี้ เพราะเป็นการทําให้ปัญหาและความยุ่งยากต่างๆหมดไป ขนมหวานแช่แข็งจึง เป็นทางออกที่ดี และเป็นการตอบโจทย์ที่ลงตัวที่สุดของร้านอาหารทั้งหลาย และนี่คือ บันไดก้าวแรกที่ตะวันใช้เป็นเส้นทางก้าวสู่เส้นทางเป็นเจ้าของกิจการขนมหวานแช่แข็ง
ทั้งนี้ขนมหวานไทยแช่แข็งของไทยริช สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการผลิตขนมไทย อร่อยได้นานไม่ต้องพึ่งสารกันบูด ผลจากกระบวนการผลิตด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ ได้แก่ เทคโนโลยีการแช่แข็งขนมหวาน เพื่อให้เก็บรักษาไว้ได้นาน ซึ่งการแช่เยือกแข็งขนมหวานมีได้หลายวิธี เช่น Individual Quick Frozen (IQF) เป็นการทําให้ขนมหวานแข็งตัวอย่างรวดเร็ว หรือ Shock Freeze ซึ่งเป็นการแช่แข็ง โดยทําให้ขนมหวานมีอุณหภูมิ -18 ºC ภายในเวลา 1-4 ชั่วโมง เป็นต้น ทําให้ขนมหวานเยือกแข็งสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานโดยไม่เสียคุณค่าทางโภชนาการ
นอกจากนี้การเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของจุลินทรีย์ต้องให้น้ำเป็นปัจจัยสําคัญ เมื่อน้ำในขนมหวานเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำแข็ง เชื้อจุลินทรีย์จึงไม่สามารถใช้น้ำในการเจริญเติบโตได้ อีกทั้งน้ำในเซลล์ของจุลินทรีย์เองก็เป็นน้ำแข็งด้วย เซลล์จึงไม่สามารถทําหน้าที่ได้เหมือนกับสภาพปกติ
เมื่อลดอุณหภูมิลงจึงสามารถหยุดปฏิกิริยาทางเคมีได้ และหากสามารถลดอุณหภูมิของขนมหวานได้เร็วขึ้นเท่าใด ก็สามารถหยุดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น ซึ่งหมายถึงความสามารถในการรักษาคุณค่าและรสชาติทางโภชนาการของอาหารได้เหมือนเดิมมากขึ้น นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์สําหรับอาหารแช่แข็งก็มีส่วนสําคัญในการช่วยรักษาคุณภาพของอาหารได้ด้วย
ผลิตภัณฑ์ของไทยริชมีหลายอย่างด้วยกัน อาทิ กล้วยไข่บวชชี ทับทิมแก้ว ข้าวเหนียวทุเรียน บัวลอยเผือก บัวลอยเผือกมะพร้าวอ่อน รากบัวแปะก๊วยน้ำลำไย สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน สาคูแคนตาลูป เต้าทึง ร้อน-เย็น สละ มังคุด ลูกตาล กระท้อน ลำใย กีวี-แอบเปิ้ลและลอยแก้วต่างๆ โดยจำหน่ายในประเทศมาเป็นเวลา 15 ปีก่อน และเริ่มส่งออกด้วยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเชื่อว่า บริษัทมีศักยภาพสามารถส่งออกได้ โดยเริ่มจากตลาดใกล้ไทยก่อนได้แก่ กัมพูชา เมียนมาร์ ต่อมาขยายจีนและสหรัฐอเมริกา ที่กลายเป็นลูกค้าหลัก
“ต่อมาทราบข่าวว่า มีโครงการช่วยเหลือของเอสเอ็มอีแบงก์จึงสนใจเพื่อจะทำให้ธุรกิจของเธอมีความก้าวหน้ามากกว่านี้ จึงเป็นโอกาสที่ดี ดีใจที่จะทำให้ธุรกิจโตขึ้น ซึ่งบริษัทมีศักยภาพพอสมควร โดยเราเป็นธุรกิจที่มีระบบที่ทำให้ส่งออกได้ ทั้ง GMP, ISO 22000 หรือ ฮาลาล เป็นต้น”
นางสาลินี กล่าวต่อว่า ธนาคารเอสเอ็มอีเป็นธนาคารของรัฐที่เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่เน้นทำกำไร จึงมุ่งเน้นช่วยเหลือธุรกิจด้านการเกษตรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติและภาคธุรกิจบริการ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่มองว่า ประเทศไทยมีการบริการมากกว่าการผลิต ทำอย่างจะเข้าไปสู่การร่วมลงทุนกับกิจการภาคบริการให้ได้
ข้อมูล-ภาพบางส่วนจากเวบไซต์บริษัทไทยริช