ก.วิทย์แนะระดมความรู้สู่ท้องถิ่น
สร้างนวัตกรรมเด็กมีจิตสาธารณะ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานพร้อมมอบนโยบายแก่ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ สุราษฎร์ธานี โรงเรียนที่มีความพร้อมด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)เมื่อเร็ว ๆนี้ พร้อมรับนักเรียนรุ่นแรกเข้าร่วมโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) แห่งที่ 17 โดยพร้อมจะเปิดการสอนในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้
โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ สุราษฎร์ธานี ดำเนินการสอนให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ผ่านการจัดทำโครงงานและจากโจทย์ปัญหาจริงโดยสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ด้วยตนเอง จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องวิจัยที่มีความเป็นเลิศในหลายด้าน รวมทั้งมีการจัดการศึกษาเพื่อรองรับนักเรียนเข้าร่วมโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมศึกษา ให้มีศักยภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ฯ นอกจากเปิดโอกาสให้เรียนรู้ได้ด้วยการคิดจริง ลงมือปฏิบัติจริงแล้ว อาจมองถึงการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะของห้องเรียนวิทยาศาสตร์ การนำศาสตร์ต่างๆ ที่มีความโดดเด่นมาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสคิดนอกกรอบเสริมสร้างทักษะของตนเองมากขึ้น ตลอดจนได้เรียนรู้ตามความถนัดของแต่ละคน พร้อมทั้งควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต คุณภาพการทำงาน และสวัสดิการของครู ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากการสร้างสิ่งเหล่านี้ถือเป็นขวัญกำลังใจที่ดีที่ส่งผลต่อการปฏิบัติตามมาตรฐานการสอนของครู ไปจนถึงการอบรมครู เพื่อให้ครูเหล่านั้นได้นำแนวคิดถ่ายทอดสู่เด็กได้อย่างถูกทิศทาง
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับบทบาทของส่วนราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและภาคเอกชน ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กและโรงเรียนควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงทรัพยากรทั้ง อุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด คลังจังหวัด และสหกรณ์จังหวัด เพื่อรองรับการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือผู้สำเร็จการศึกษา ได้มีอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ชี้จุดยืนที่ชัดเจนเพื่อปลูกฝังให้เด็กมีจิตสาธารณะรักบ้านเกิด นำความรู้ที่ได้ศึกษามาสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และสังคมที่ดีให้เจริญก้าวหน้า เพื่อให้เด็กในท้องถิ่นมีความอยู่ดีกินดี มีแนวคิดและมุมมองที่แปลกใหม่สามารถก่อประโยชน์ให้แก่คนในชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแก่ชุมชนท้องถิ่น รองรับเศรษฐกิจฐานรากและนวัตกรรมของประเทศอย่างเข้มแข็ง
“ประเทศไทยมีความพร้อมในหลายด้านแต่เราจะต้องช่วยกันพัฒนาให้ถูกทิศทาง นอกจากปลูกฝังความรู้ให้แก่เด็กรุ่นใหม่แล้ว การสร้างวินัยและปลูกฝังให้มีจิตสาธารณะไปพร้อมกัน เป็นสิ่งที่ประเทศต้องการเป็นอย่างมาก โดยนำองค์ความรู้ความสามารถมาพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์นวัตกรรม ให้คืนสู่ท้องถิ่นตนเอง โดยโรงเรียนต้องเป็นตัวกลางหลักในการเชื่อมโยงเพื่อความยั่งยืนของประเทศต่อไป” ดร.พิเชฐ กล่าวสรุป