TMBสัมมนาเศรษฐกิจ-SMEs
ชี้รัฐลงทุนเพิ่ม20% ปัจจัยบวก
ทีเอ็มบี มุ่งสู่การเป็นธนาคารหลักของเอสเอ็มอีในการดำเนินธุรกิจ เดินหน้าเสริมแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการจัดสุดยอดงานสัมมนาแห่งปี “TMB Economic Forum ส่องเศรษฐกิจโลก เจาะธุรกิจไทย 2016” ช่วยเปิดมุมมองด้านธุรกิจให้กับเอสเอ็มอี ด้วยข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจระดับโลก ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย และวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่งและธุรกิจเฝ้าระวังของไทย เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถมองเห็นโอกาส ลู่ทาง และมีความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจ พร้อมเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพในปีนี้
นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทีเอ็มบี มีนโยบายมุ่งเสริมศักยภาพให้กับเอสเอ็มอีในทุกๆ ด้าน และพร้อมผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้เต็มศักยภาพ เพื่อให้เป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในปี 2559 นี้ แม้จะเป็นอีกปีแห่งความท้าทายของเอสเอ็มอี ที่ต้องเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยเศรษฐกิจทั้งระดับโลก ภูมิภาค และประเทศไทย แต่การได้รับข้อมูลและการวิเคราะห์เศรษฐกิจที่ชัดเจนและตรงประเด็น ก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ และกำลังใจในการประกอบธุรกิจช่วงเวลาที่มีปัจจัยต่างๆ รุมเร้ารอบด้าน ทั้งปัจจัยบวก และปัจจัยลบ”
โดยภายในงาน “TMB Economic Forum ส่องเศรษฐกิจโลก เจาะธุรกิจไทย 2016” ได้รับเกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษจาก ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) ที่จะช่วยเปิดมุมมองให้เอสเอ็มอีเข้าใจสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และญี่ปุ่น ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย รวมทั้งข้อดี ข้อเสียของสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศต่อนักธุรกิจไทย และบทบาทความสำคัญของ AEC พร้อมเจาะลึกข้อมูลธุรกิจและเศรษฐกิจของไทย ให้เห็นลู่ทางและโอกาสทางธุรกิจ ในรูปแบบเวทีอภิปราย โดย ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กรและศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ได้เปิดเผยปัจจัยบวกที่จะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีในปี 2559 นี้ ได้แก่ ปีแห่งการลงทุนของภาครัฐบาลด้วยงบประมาณลงทุนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของงบประมาณรวม คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาทที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเร่งการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและผู้บริโภค ในขณะที่ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจในปีนี้ จะเกิดจากภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อผลผลิตเกษตรกรและการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวจะส่งผลด้านลบต่อการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม และความผันผวนในตลาดเงินทั้งภาวะตกต่ำในตลาดหลักทรัพย์จีน และคาดการณ์การเพิ่มดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ทำให้กระแสเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนา