มธ.แนะรับมือแรงงานต่างด้าว
ตั้งศูนย์ระวังโรค-วัคซีนอาเซียน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยวิทยาลัยโลกคดีศึกษา แนะรัฐสร้างความพร้อมด้านนโยบายสาธารณะสุขในอาเซียน พร้อมตั้ง “ศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดและวัคซีนแห่งอาเซียน” เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัย และพัฒนาวัคซีนร่วมกับกลุ่มประเทศในอาเซียน รวมถึงเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนของไทย และกระจายวัคซีนสู่กลุ่มประเทศ CLMV เตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์สุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาค ตลอดจนเฝ้าระวังการกลับมาของโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นในอาเซียน อาทิ โรคมาลาเรีย โรคมือเท้าปาก อหิวาตกโรค ฯลฯ
ดร.แอนดริว คอร์วิน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะโลก วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การระบาดของเชื้อโรค เป็นสถานการณ์ที่อุบัติขึ้นได้ในทุกพื้นที่และเวลา โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมากอย่างประเทศไทย ซึ่งเป็นทั้งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกว่า 30 ล้านคน ในปี 2558 (สถิติจากกรมการท่องเที่ยว) และกลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา จำนวนทั้งสิ้น 1,274,241 คน ที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักรไทย (สถิติจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ณ เดือน มกราคม 2559) ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าจำนวนแรงงานทั้งหมดอาจมีสูงกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งหมายถึงแรงงานต่างด้าวกว่า 50% เข้ามาโดยผิดกฎหมาย และไม่ได้ตรวจโรค ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือการสถานการณ์ระบาดของเชื้อโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรให้ความใส่ใจ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการจัดตั้ง “ศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดและวัคซีนแห่งอาเซียน” ขึ้นเพื่อดำเนินบทบาทหลัก 3 ประการ 1) เป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัย และพัฒนาวัคซีนร่วมกับกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยมุ่งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้สู่การพัฒนาสาธารณสุขในระดับภูมิภาค 2) เป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนของไทย และกระจายวัคซีนสู่กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ต้องการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศเช่นกัน และ 3) เป็นศูนย์กลางการเฝ้าระวังโรคระบาดในอาเซียน เตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์สุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาค ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของนักวิจัยไทย ตลอดจนผลักดันไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านสาธารณสุขในระดับภูมิภาคได้ อันสอดคล้องกับก้าวต่อไปของนโยบายรัฐในการสนับสนุนให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการแพทย์แห่งเอเชีย (Medical Hub of Asia)”
นอกจากการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว ภาครัฐควรมีการพัฒนาระบบการสื่อสารสุขภาพ (Health Communication) ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการย้ำความสำคัญของระบบสุขภาพพื้นฐานให้กับประชาชนได้ เป็นต้นว่า ปัจจุบันคนไทยยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องการฉีดวัคซีนซ้ำอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ อาทิ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคคอตีบ โรคโปลิโอ ที่เคยมีจากการได้รับวัคซีนในวัยเด็กจะลดลงเรื่อยๆ ตามวัย ซึ่งอาจส่งผลให้มีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวได้อีกครั้ง บ้างก็กลัวปัญหาว่าค่าใช้จ่ายจะมีราคาสูง ในขณะที่ผ่านมาพบการระบาดของโรคคอตีบในกลุ่มวัยรุ่นภาคอีสาน โรคบาดทะยักในกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปี และโรคหัดพบในทุกกลุ่มอายุที่สูงขึ้นกว่าเดิมทั้งที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วเมื่อตอนเด็ก
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากประชากรมีภูมิคุ้มกันลดลง ก็อาจส่งผลกระทบให้ร่างกายมีความอ่อนแอต่อเชื้อโรคต่างๆ ได้ โดยเฉพาะกลุ่มโรคระบาดที่เคยอุบัติขึ้นใน 10 ชาติอาเซียนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อาทิ “โรคมาลาเรีย” (Malaria) เคยเกิดขึ้นในประเทศลาวและพม่า “โรคมือ เท้า ปาก” (Hand Foot and Mouth Disease) เคยเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และบรูไน “อหิวาตกโรค” (Cholera) เคยเกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย “โรคไข้เลือดออก” (Dengue Hemorrhagic Fever) เคยระบาดหนักในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ และ “โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเฮนดรา และนิปาห์” (Hendra and Nipah Viral Diseases) เคยระบาดและรุนแรงอย่างหนักในประเทศมาเลเซีย
ถึงแม้ว่าปัจจุบันวงการสาธารณสุขไทยจะมีพัฒนาการก้าวหน้าในระดับสากล โดยล่าสุดสามารถผลิตวัคซีนไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อเป็นสำเร็จและได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกวัคซีนดังกล่าวไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ แต่นักวิจัยด้านสาธารณสุขของไทยยังไม่ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาวัคซีนอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องด้วยขาดงบประมาณ และแหล่งผลิตวัคซีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยต้องนำเข้าวัคซีนกว่า 2,400 ล้านบาทต่อปี(ข้อมูลจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ) ตลอดจนประสบปัญหาความล่าช้าในการขนส่งวัคซีนจากต่างประเทศในยามเกิดโรคระบาดหรือขาดแคลน ดังนั้นหากภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องโหว่ของปัญหาเหล่านี้ได้ จะสามารถช่วยให้วงการสาธารณสุขไทยก้าวไกลไปในอีกระดับอย่างมีศักยภาพ ดร.แอนดริว กล่าวทิ้งท้าย
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดการเรียนการสอนในกลุ่มวิทยาศาสตร์และสุขภาพ ผ่านการจัดตั้งคณะต่างๆ อันได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ที่มุ่งบ่มเพาะให้บุคลากรทางการศึกษามีองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่รอบด้าน มีความเข้าใจถึงสภาวการณ์ของโรคในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของเทคโนโลยีการฟื้นฟูรักษาผู้ป่วย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมนักศึกษาให้สามารถรับมือและเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนวงการสาธารณสุขไทยได้ในอนาคต
“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ผ่านการปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรมการมีจิตสาธารณะและการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์…มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยาลัยโลกคดีศึกษา จัดงานแถลงข้อมูลสถานการณ์โรคระบาดในอาเซียน เมื่อเร็วๆ นี้ ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร. 02-564-4493 เว็บไซต์www.pr.tu.ac.th