ไทยเจ้าภาพประชุมน้ำตาลโลก
คาดรายได้เข้าประเทศ139ล้าน
ISSCT เลือกไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 วันที่ 2-11 ธันวาคม 2559 นี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 24 ปี เป็นเวทีโชว์เทคนิคการผลิตอ้อยและน้ำตาล รวมถึงนวัตกรรมสุดทันสมัย เพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งกระบวนการ คาดมีผู้เข้าร่วมราว 2,000 คน เป็นต่างชาติราว 1,500 คน จาก 80 ประเทศ ส่งผลดีต่ออุตฯอ้อยและน้ำตาล ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลมากอันดับ 5 ของโลก ส่งออกอันดับ2 ช่วยกระตุ้นท่องเที่ยว นำเงินเข้าประเทศราว 139 ล้านบาท
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 เปิดเผยว่า สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (TSSCT) ได้รับคัดเลือกในนามของประเทศไทยจากคณะกรรมการนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติหรือ ISSCT (International Society of Sugar Cane Technologists) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 หรือ XXIX International Society of Sugar Cane Technologists Congress เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมกันจัดแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอ้อยและน้ำตาลจากนานาประเทศทั่วโลก ด้วยแนวคิด “Sufficient and Sustainable Agri-Sugar Cane from Small Farmers to Global Exporters” โดยคาดว่าจะมีตัวแทนภาครัฐ ผู้ประกอบการจากภาคเอกชน และมีนักวิชาการ เข้าร่วมงานประมาณ 2,000 คน จาก 80 ประเทศทั่วโลก
นายเชิดพงษ์กล่าวต่อว่า ไทยได้รับเลือกจัดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 24 ปีหลังจากครั้งแรกจัดในปี 1992 (2535) และเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ไทยได้รับความเชื่อมั่นในการจัดงานและบทบาทของไทยในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลในตลาดโลก ซึ่งไทยมีปริมาณการผลิตอยู่ในอันดับ 5 ของโลกและมีการส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก
พร้อมเชื่อมั่นว่า ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปีของกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร็วภายใน 5 ปีเท่านั้น ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลดำเนินยุทธศาสตร์โรงงานอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยมีเป้าหมายระยะ 10 ปีคือ ปี 2569 เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกประมาณ 6 ล้านไร่ ส่งผลให้มีการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นประมาณ 59% และผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น 24% รวมถึงมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 39% อันจะทำให้ในปี 2569 ไทยมีรายได้เพิ่มจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็น 5 แสนล้านบาท จาก 2 แสนล้านบาทในปี 2558
นายเชิดพงษ์ยังกล่าวด้วยว่า งานนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้สนับสนุนหลักระดับแพลตทินั่ม ได้แก่ มิตรผลกรุ๊ป, Isgec Heavy Engineering Limited, ระดับโกลด์ ได้แก่ Sutech Engineering Company Limited, Uttam Sucrotech International Private Limited, John Deere (Thailand) Limited , Cristalla Company Limited, Siam Kubota Corporation Co., Ltd. และระดับซิลเวอร์ ได้แก่ Triveni Turbine Limited, Netafim (Thailand) Company Limited
สำหรับหน่วยงานและองค์กรที่ให้การสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, กรมวิชาการเกษตร, เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล, บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการหรือทีเส็บ ที่ให้การสนับสนุนตั้งแต่การเข้าไปประมูลสิทธิ์การจัดงานถึง 2 ครั้งตั้งแต่ที่เม็กซิโก ปี 2010 และบราซิลปี 2013 จนประเทศไทยได้รับงานครั้งนี้
นอกจากนี้ยังมีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ที่ให้ความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่จัดงาน และบริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลล้อปเม้นท์ จำกัด ที่ร่วมดำเนินการประมูลสิทธิ์การจัดงานทั้ง 2 ครั้งจนสมาคมอ้อยและน้ำตาลโลกมั่นใจในศักยภาพ และคัดเลือกให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุม ซึ่งในโอกาสนี้ สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลล้อปเม้นท์ จำกัด ให้เป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดงานการประชุมครั้งนี้ด้วย
ด้านนางสาววิชญา สุนทรศารทูล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า การเลือกสถานที่ประชุมในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของเมืองท่องเที่ยวหลักในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์( (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions-MICE)ของเอเชีย ด้วยการส่งเสริมศักยภาพและความพร้อมของไมซ์ซิตี้หลักของประเทศไทย ทั้ง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ตและขอนแก่น รวมถึงเมืองอันเป็นจุดหมายชั้นนำอื่น ๆ ในประเทศ เพราะธุรกิจไมซ์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเท สามารถสร้างรายได้จากค่าบริการได้เพิ่ม 3-5 เท่า เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่เมืองไมซ์ซิตี้ โดยหวังเป็นศูนย์กลางบริการข้อมูลของอุตสาหกรรมไมซ์และศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของภาคเหนือ รองรับการเปิดเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย ซึ่งมุ่งเน้นดำเนินงานภายใต้นโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดอบรม และประชุมสัมมนาในประเทศมากขึ้น เน้นความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศ
“ การจัดงานประชุมครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมชาวต่างชาติ 1,500 คน และนำรายได้เข้าประเทศ 139 ล้านบาท และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ จะเปิดโอกาสให้บุคลากรของไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้รับองค์ความรู้ และเรียนรู้วิวัฒนาการใหม่ๆ เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย” นางสาววิชญากล่าว
นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการประชุมหลัก จะเป็นการประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ประกอบด้วยการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และการแสดงผลงานวิจัยจากประเทศต่าง ๆ ในรูปแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ โดยเป็นผลงานนำเสนอของนักวิชาการชาวไทยถึง 40 เรื่อง อีกทั้งยังมีการจัดแสดงเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลตลอดกระบวนการผลิต และผลพลอยได้ของอ้อยและน้ำตาล
“ปัจจุบันมีผู้สนใจตอบรับเข้าร่วมแสดงนิทรรศการในงานครั้งนี้เป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศสนใจซื้อพื้นที่ไปแล้วมากกว่า 70% ซึ่งเราคาดว่าจะมีการจองและซื้อพื้นที่ที่เหลือทั้งหมดภายใน 3 เดือน จึงไม่อยากให้ท่านที่กำลังตัดสินใจพลาดโอกาส เพราะงานนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ในการก้าวสู่การเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน” นายกิตติกล่าว
อนึ่งการประชุมจัดเป็น 3 ส่วน ได้แก่ (1) Pre-Congress Tour วันที่ 2-4 ธันวาคม ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว, อุทยานวิจัยมิตรผล และบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (2) การประชุม ISSCT Congress 2016 วันที่ 5-8 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ และ (3) Post-Congress Tour วันที่ 9-11 ธันวาคม จะศึกษาดูงานโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จังหวัดสุโขทัย และนครสวรรค์
นอกจากนี้ในการจัดงานยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยเข้าชมงานเพื่อส่งเสริม การต่อยอดความรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างทั่วถึงอีกด้วย