กรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้35.6-36.0
จับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐวันศุกร์
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีหรือ TMB Analytics แนะนำจับตา แนะนำให้จับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ในวันศุกร์(4มี.ค.59)นี้ ขณะที่เงินเฟ้อไทยยังรายงานอยู่ในระดับต่ำ ด้านกรอบค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.6 ถึง 36.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นจากตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่จะออกมาดีในวันศุกร์ และคาดว่าผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี จะอยู่ในกรอบ 1.90-2.20% ในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจีดีพีไตรมาสที่4ออกมาดีกว่าคาด โดยจีดีพีไตรมาสที่ 4 ปี 2015 ของสหรัฐฯ ขยายตัว 1.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นที่ 0.7%โดยปัจจัยหลักมาจากตัวเลขสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจที่หดตัวน้อยลง ขณะที่ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น หลังยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนมกราคมเป็นบวก 4.9% จากลบ 4.6% ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำและโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ก็มากขึ้นด้วย สำหรับเศรษฐกิจไทย ตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคมหดตัวมากกว่าคาดที่ 8.91% โดยปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ
สำหรับสัปดาห์นี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี มีความเห็นว่าการรายงานตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อของไทยเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง โดยตลาดคาดว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้จะปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.95 แสนตำแหน่ง เนื่องจากเริ่มเห็นแนวโน้มจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง ขณะที่คาดว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ จะยังคงที่ที่ระดับ 4.9% ด้านเศรษฐกิจในประเทศ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยในวันอังคารคาดว่าจะหดตัวต่อจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.5% เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังตกต่ำ จึงเป็นที่น่าจับตาว่า ธปท. จะมีความเห็นอย่างไรกับภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบัน ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจ “ลด” “คง” หรือ “ขึ้น” ดอกเบี้ยในการประชุม กนง. วันที่ 23 มีนาคมนี้
ด้านมุมมองตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นโดย EUR/USD อยู่ที่ 1.09 (-1.7%) และ USD/JPY อยู่ที่ 113.9 (+1.3%) ด้าน USD/THB ซื้อขายอยู่ที่ระดับ 35.60 – 35.80 THB/USD ทั้งสัปดาห์ โดยเป็นการค่อยๆ อ่อนค่าของดอลลาร์ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัส โดยลงไปทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 35.63 ก่อนที่ตัวเลขจีดีพีของสหรัฐที่รายงานวันศุกร์ออกมาดีเกินคาดจะส่งผลให้ค่าเงินขยับขึ้นไปที่ระดับ 35.74 ในคืนวันศุกร์ โดยปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆในช่วงนี้ยังมาจากการค้าโลกที่ชะลอตัวประกอบกับแนวโน้มการ “ขึ้น” ดอกเบี้ยของสหรัฐที่ยังไม่ชัดเจน สำหรับสัปดาห์นี้ศูนย์วิเคราะห์ฯ แนะนำให้จับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ตลาดคาดว่าจะรายงานที่ระดับ 1.95 แสนตำแหน่ง ซึ่งถ้าการจ้างงานออกมาดีกว่าคาดค่าเงินดอลลาร์ก็น่าจะสามารถปรับตัวขึ้นไปต่อได้ โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะซื้อขายในกรอบ 35.60 ถึง 36.00 THB/USD
มุมมองตลาดตราสารหนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมายิลด์แกว่งตัวขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1.76% (+2bps) ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 2.09-2.11% (+10bps) และดอกเบี้ยสวอป 10 ปี อยู่ที่ 2.37% (+9bps) ตลาดตราสารหนี้ยังเคลื่อนไหวตามที่ TMB Analytics คาดไว้ โดยยิลด์เริ่มปรับตัวขึ้นตามเงินเฟ้อสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาและตลาดเริ่มมองว่าราคาน้ำมันผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตามการที่ธนาคารกลางต่างๆ ของโลกยังใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบในขณะที่สภาพคล่องยังล้นตลาดเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ยังมีเงินไหลเข้าตลาดบอนด์ต่อไปโดยเฉพาะในตราสารหนี้ระยะสั้น โดยเรามองว่าราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าน้ำมันเริ่มปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง บอนด์ยิลด์ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ โดยในช่วงสัปดาห์นี้และศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี จะอยู่ในกรอบ 2.00-2.20%