ประชุมทางหลวงชนบท-ขนส่ง
เชื่อมโยงขนส่งปลอดภัยอาเซียน
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ,คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ด้วยการสนับสนุนของวิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติด้านทางหลวงชนบท ครั้งที่ 5 (The5th International Symposium on Rural Roads 2015) และการประชุมวิชาการการขนส่งแห่งชาติ ครั้งที่ 10(NTC10)ในคราวเดียวกัน ภายใต้หัวข้อ “การเชื่อมโยงการขนส่งอย่างปลอดภัยในอาเซียน” ณ เชียงใหม่
สืบเนื่องจากการขนส่งมีความสำคัญต่อการเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีการเดินทาง การท่องเที่ยว และการติดต่อการค้าพาณิชย์เพิ่มขึ้นมากมายระหว่าง 10 ชาติอาเซียน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิกต้องร่วมมือกันพัฒนายกระดับความปลอดภัยทางถนนในทุกมิติ ทั้งด้านกายภาพถนน สภาพแวดล้อม การพัฒนาคน และสภาพความปลอดภัยของยานพาหนะ ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรมจราจรและขนส่งในระดับสากล
นายอรวิทย์ เหมะจุฑา ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “การประชุมวิชาการการขนส่งแห่งชาติได้จัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง ภายใต้คณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ที่มุ่งเน้นการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการถ่ายทอดผลงาน ประสบการณ์ และงานวิจัย เพื่อจรรโลงวิชาชีพวิศวกรรมและเทคโนโลยีไทยให้เจริญก้าวหน้าในระดับสากลเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ
การประชุมวิชาการการขนส่งแห่งชาติครั้งที่ 10 นี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การเชื่อมโยงการขนส่งอย่างปลอดภัยในอาเซียน” เพื่อเป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมขนส่งโดยเน้นการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย สำหรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณาจารย์และนิสิตนักศึกษา ที่มาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และนำเสนอผลงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่งให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
การพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ผลงานวิจัย และประสบการณ์ด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่งในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะสานต่อความร่วมมือในการปรับปรุง พัฒนา รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ทางวิศวกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตรฐานการจราจรขนส่งที่สอดคล้องกันในอาเซียน เช่น แสงสว่าง ป้าย เครื่องหมาย สัญญาณไฟจราจร ที่จะช่วยให้การจราจรและขนส่งภายในกลุ่มประเทศอาเซียนมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”
ด้านนายพิศักดิ์ จิตตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า “การขนส่งเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่นำปัจจัยการผลิตและผลผลิตออกไปยังที่ต่างๆ ดังนั้นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัวอย่างยั่งยืน ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังพัฒนาและเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยทางหลวง 12 เส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 6,693 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางจำนวน 9 เส้นที่เป็นทั้งทางหลวงเอเชียและทางหลวงอาเซียน ได้แก่ AH1, AH2, AH3, AH12, AH13, AH15, AH16, AH18 และ AH19 และ 3 เส้นทางเป็นทางหลวงอาเซียนเพียงอย่างเดียว ได้แก่ AH112, AH121 และAH123 ซึ่งช่วยให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้คล่องตัว ช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนในการขนส่ง ทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่การเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงง่าย ยังจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งจากประเทศในอาเซียนและประเทศอื่นๆ เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความมั่นใจว่า ถนนและทางหลวง รวมถึงระบบขนส่งมีประสิทธิภาพที่จะรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต วิศวกรรมจราจรและขนส่งซึ่งเป็นสาขาวิศวกรรมที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการ แหล่งเงิน และจัดลำดับความสำคัญ จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีความปลอดภัย สะอาด ประหยัด และมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เพื่อช่วยกำกับการใช้รถให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ใช้รถ ผู้ร่วมทาง และประชาชนในเส้นทาง”
ผศ.ดร.ณัฐ วรยศ ประธาน วสท. สาขาภาคเหนือ 1 ได้กล่าวว่า “ในวันนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าทุกประเทศในอาเซียนกำลังให้ความสำคัญในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity) เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเน้นที่การเชื่อมโยงใน 3 มิติ คือ 1) การเชื่อมโยงของภาคประชาชน (People) ในแง่ของการท่องเที่ยว การศึกษา และวัฒนธรรม 2) การเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบต่างๆ (Institution) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมของประชาชนในประเทศสมาชิก และ 3) การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Infrastructure) เช่น การเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น รองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยว”
สำหรับความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Infrastructure) ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ และโครงข่ายพลังงาน เป็นมิติความเชื่อมโยงที่ทุกประเทศสมาชิกให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภูมิภาค ในการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยถือเป็นหัวใจสำคัญของการเปิดประชาคมอาเซียนให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะจะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตจากการขนส่ง ช่วยเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง ส่งผลทำให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมลดลง เป็นการช่วยยกระดับความเชื่อมโยงในมิติอื่นๆ ต่อไปในอนาคต รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประชาคมในภูมิภาคอาเซียน ก้าวผ่านไปสู่เวทีการแข่งขันใหม่ (New Business Platform) ในลักษณะของกลุ่มเศรษฐกิจบนเวทีการค้าโลก บนพื้นฐานของความร่วมมือและการพึ่งพาทรัพยากรร่วมกัน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่กําหนดไว้ใน แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) ที่ว่า “เพื่อทําให้อาเซียนเป็นศูนย์รวมของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มองไปข้างนอก อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติภาพ มั่นคง และเจริญรุ่งเรือง รวมตัวกันเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาอย่างมีพลวัตและเป็นประชาคมที่ยั่งยืน”
การประชุมครั้งนี้มีผู้ร่วมงานกว่า 100 คน มีการบรรยายพิเศษในหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) “Rural Roads for Development :Case Study from Around the World” มีเนื้อหาเกี่ยวกับปัจจัยที่ใช้ในการประเมินผลในการเลือกเส้นทางถนนที่จะทำการพัฒนาในโครงการต่างๆ ของ Kreditanstalt für Wiederaufbau (KfW) Bank เช่น ค่าใช้จ่าย ระดับความบ่อยในการใช้ถนน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนานั้นๆ โดย ดร.เรเนอร์ คอโบล ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันเครดิตเพื่อการบูรณะและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Kreditanstalt fur Wiederaufbau – KfW) 2) ภาพรวมของระบบการคมนาคมขนส่งในประเทศไทยรวมทั้งบทบาทของกรมทางหลวงชนบทต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทย เช่น ในจังหวัดสระแก้ว จังหวัดตาก จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดตราด จังหวัดสงขลา และจังหวัดหนองคาย โดยเน้นการพัฒนาในด้านการค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว และการเกษตร โดยดร.ชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศกรมทางหลวงชนบท
3) วิธีที่ทางiRAP ช่วยเหลือประเทศในสมาคมอาเซียนในเรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนน เช่น การวางแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งภายในประเทศและการดูแลรักษาความปลอดภัยบนท้องถนน จัดตั้งและสนับสนุนระบบข้อมูลในการติดตามและประเมินผล ตั้งเกณฑ์มาตรฐานของนโยบายและเป้าหมายในด้านความปลอดภัยบนท้องถนนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย นายลุค โรเจอร์ส วิศวกรอาวุโสทางด้านความปลอดภัยทางถนน (International Road Assessment Programme – iRAP) ประจำ Asia Pacific