ระดมกูรู SME BIZ ASIA 2016
ติดปีก SMEs ยุคNew Normal
มีการคาดการณ์ว่า ต่อจากนี้ไปเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตราต่ำและช้ากว่าเดิม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าสู่ยุค “New Normal” หรือ “บริบทใหม่” ที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจในมิติต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอตัวลง รวมถึงโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย อีกทั้งโลกไซเบอร์ที่มีข้อมูลมหาศาลที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรม และความสนใจของผู้บริโภค จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องเรียนรู้และเข้าใจบริบทใหม่ทางธุรกิจเพื่อปรับตัวพร้อมรับมือ
บริษัท ไอบริก จำกัด ในฐานะผู้จัดงานแสดงสินค้า (Trade Show) ระดับแนวหน้าของประเทศไทย จึงไม่รอช้าในการจัดงานสัมมนาภายใต้เวที “SME BIZ ASIA 2016” พร้อมชูแนวคิด “SMEs ยุค New Normal :โอกาสและความท้าทาย” โดยระดมกูรูทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านนวัตกรรมการออกแบบสินค้า บรรจุภัณฑ์ กลยุทธ์การทำตลาดและการสร้าง แบรนด์ให้โดนใจผู้บริโภค รวมทั้งนวัตกรรมโซลูชั่นสุดล้ำด้านการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม
สักกฉัฐ ศิวะบวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอบริก จำกัด กล่าวถึงแนวทางการทำธุรกิจ SMEsในยุค New Normal ว่า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องของโซลูชั่นที่ช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์โซลูชั่น ดีไซน์โซลูชั่น โซลูชั่นทางการเงิน รวมถึงโซลูชั่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเพิ่มศักยภาพธุรกิจ เนื่องจากความรวดเร็วในการทำธุรกิจเป็นหัวใจหลักของการแข่งขัน
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่ขายสินค้าหรือบริการ แต่เป็นเรื่องของการแข่งขันที่มีนานาชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งการใช้โซลูชั่นในการบริหารจัดการจะทำให้ผลผลิตมีความเสถียร มีคุณภาพสูงขึ้น และตรงใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงถือเป็นโอกาสในการเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้แข่งขันได้ในเวทีระดับโลก
3 เมกะเทรนด์ส่องทาง SMEs
กูรูด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองอย่าง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ มีมุมมองว่า ในโลกยุค New Normal ก็คือ Abnormal หรือความไม่ปกตินั่นเอง การค้าการลงทุนระหว่างประเทศถูกตีกรอบด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นทั่วโลก ล่าสุดคือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ซึ่งจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ภายใต้บริบทดังกล่าว ประเทศสมาชิกต้องปรับตัวให้เข้ากับข้อกำหนดและกฎระเบียบต่างๆ ที่ตามมา รวมถึงปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่สูงขึ้น
ในขณะที่ ASEAN+3, ASEAN+6 เปิดประตูการค้าสู่ตลาดที่มีผู้บริโภครวมกว่า 3,300 ล้านคน ทำให้การค้าการลงทุนมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนของสินค้าไทย อาหารไทย ก็ยังมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ เพียงแต่ต้องปรับให้ได้มาตรฐานสากล และต้องมองช่องทางการเจาะตลาดในระดับภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs ที่มีเครือข่ายในการเชื่อมโยงธุรกิจ
ด้าน ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน แนะว่า โอกาสของ SMEs ในยุค New Normal ประกอบด้วยเมกะเทรนด์ 3 กระแสหลัก ได้แก่ 1.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการที่ผู้หญิงมีความสามารถสูงขึ้น ทำงานนอกบ้านและมีรายได้มากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น
2.การรวมกลุ่มในภูมิภาคและผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองมากขึ้น การเติบโตของชนชั้นกลาง ทั้งในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงประเทศไทย โดยสินค้าที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมือง ราคาไม่แพงจะขายดีและเป็นที่ต้องการของตลาด และ 3.เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือที่เรียกกันว่า Disruptive Technology ได้แก่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และแอพพลิเคชันต่างๆ ที่จะพลิกโฉมการทำธุรกิจการค้าและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแบบเดิมๆ โดยเฉพาะ Gen Y หรือผู้ที่มีอายุ 15-35 ปีซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ดี ตัดสินใจบนข้อมูล ช่างเลือก และมีความรู้ทางการเงินสูง ดังนั้นสินค้าที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ดีต้องใช้ระบบการตลาดที่ครอบคลุมทั้งออฟไลน์และออนไลน์
คาแรคเตอร์-บรรจุภัณฑ์ปั้นแบรนด์
ในส่วนของ นิธิพัฒน์ สมสมาน นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะมังค์ สตูดิโอ จำกัด ให้คำแนะนำว่า ในการสร้างแบรนด์หรือการจดจำ SMEs สามารถนำเอาคาแรคเตอร์หรือรูปแบบของตัวการ์ตูนดังๆ เช่น ปังปอนด์ หนูหิ่น และทองหล่อ ไปใช้ในการขยายฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า เพื่อสร้างความจดจำและสร้างภาพลักษณ์สินค้า โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs นำคาแรคเตอร์หรือรูปแบบของตัวการ์ตูนไทยไปใช้ในการทำธุรกิจ แทนที่จะไปซื้อลิขสิทธิ์ (License) จากต่างประเทศ เพราะ 1 ลิขสิทธิ์นั้นไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้กับสินค้าทุกอย่าง แต่หากผู้ประกอบการมีลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง ก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้กับสินค้าอะไร ซึ่งในเรื่องของการออกแบบหรือดีไซน์อาจจะต้องใช้มืออาชีพเข้ามาช่วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางสมาคมฯ และหน่วยงานภาครัฐได้พยายามสนับสนุนการสร้างคาแรคเตอร์การ์ตูนไทยที่เป็นของคนไทย และถูกนำไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าสินค้ามากขึ้น รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศด้วย อยากเห็นผู้ประกอบการ SMEs สร้างลิขสิทธิ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นคาแรคเตอร์ที่มาจากมาสคอต หรือตัวการ์ตูนเพื่อเป็นตัวแทนของสินค้าและบริการ
ขณะที่กูรูด้านกลยุทธ์การตลาดและการสร้างแบรนด์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ประกอบการSMEs มายาวนาน อย่าง พีรวงศ์ จาตุรงคกุล ที่ปรึกษาด้านการตลาดและการออกแบบ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(Ismed) ได้ร่วมแนะหลักคิดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design) ที่จะทำให้สินค้าน่าสนใจและโดนใจผู้บริโภคว่า บรรจุภัณฑ์ของสินค้าต้องโดดเด่น ทันสมัย มีรูปแบบที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากผู้อื่น จดจำได้ง่าย โดยอาจมีรูปทรงแปลกใหม่ มีการใช้วัสดุ ลวดลาย สีสันและเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยทำให้บรรจุภัณฑ์ดูแตกต่าง สวยงามสะดุดตา และต้องมีความชัดเจนว่า ตลาดอยู่ที่ไหน และใครคือลูกค้า เพราะจะเป็นแนวทางในการวางคอนเซ็ปต์การออกแบบให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย บรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างสามารถเป็นคาแรคเตอร์ที่สร้างความโดดเด่นให้สินค้าได้ดี ควบคู่ไปกับการพัฒนาและรักษาคุณภาพสินค้าซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืน
ในเมื่อโลกเข้าสู่ยุค New Normal และมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้นผู้ประกอบการ SMEs จึงจำเป็นต้องนำพาธุรกิจท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการที่ติดตามและเตรียมพร้อมรับมือไว้เป็นดีเท่านั้น จึงจะสามารถมองเห็นโอกาส ได้ประโยชน์ และก้าวสู่ประตูชัยแห่งความสำเร็จได้อย่างแน่นอน