พาณิชย์-พันธมิตรปราบนอมินี
สงขลาพบต้องสงสัย1รายใหญ่
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลาลุยลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 5 เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบ 5 บริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.สะเดา จ.สงขลา ทั้งหมดเป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมรีสอร์ท อพาร์ทเม้นท์ และอื่นที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ถือครองที่ดินและมีมูลค่าการลงทุนสูง อีกทั้งเป็นธุรกิจที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นร่วมกับคนไทย พบ 1 ธุรกิจต้องสงสัยว่าอาจจะมีคนไทยแอบแฝงเป็นนอมินี
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า พฤติกรรมของผู้ถือหุ้นคนไทยมีมูลเหตุให้เชื่อว่าน่าจะเป็นการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว อันเป็นความผิดตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กรมฯ จึงมอบหมายให้ผู้อำนวยการกลุ่มบริการทะเบียนธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้า (กลุ่ม บอ.) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวน สภ.สะเดา ดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลต่อเนื่อง รวมทั้ง กรมฯ ได้ตรวจสอบการจัดทำบัญชีของบริษัททั้ง 5 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีข้อบกพร่องในการจัดทำบัญชีซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้บริษัทเข้าชี้แจง หากพบว่า มีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ. การบัญชี พ.ศ. 2543 จริงจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำหรับอนาคตกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะปรับปรุงแผนการตรวจสอบนอมินีให้ครอบคลุมจังหวัดที่เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้มากขึ้น สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้ทำให้กรมฯได้ทราบข้อมูลสำคัญของช่องทางการกระทำผิดในธุรกิจนอมินีว่า ปัจจุบันธุรกิจของชาวต่างชาติที่ต้องการจะใช้คนไทยเป็นนอมินีได้ขยายการลงทุนไปสู่จังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือชายแดนไทยที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จากเดิมจะเน้นที่การประกอบธุรกิจในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญซึ่งกรมฯ ได้มีแผนตรวจสอบ นอมินีในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
สุดท้ายนี้ ขอเตือนคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะต้องได้รับโทษหนักคือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 – 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 – 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน