เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สมุนไพร มีทั้งให้คุณและโทษ อยู่ที่เรารู้จักเลือกนำมาใช้ เช่นเดียวกับ “รางจืด” ที่มีคุณประโยชน์สามารถต้านทานพิษได้หลายอย่าง และแพทย์หรือหมอพื้นบ้านได้นำมาใช้ประโยชน์กันมาเป็นเวลานาน มีประโยชน์ช่วยถอนพิษได้ทั้งในคนและสัตว์ ต้านได้ทั้งพิษยาเบื่อ ยาสั่ง ยาฆ่าแมลง พืชพิษ เห็ดพิษ รวมไปถึงพิษสุราและยาเสพติด พิษงู แมลงป่อง หรือตะขาบ รวมถึงลดความดันโลหิต การแพ้อาหารและผดพื่นคันทางผิวหนัง
“รางจืด” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia laurifolia Linn. มักพบขึ้นอยู่ในป่าดิบชื้นทุกภาคของประเทศไทย โดยจะเลื้อยพันต้นไม้อื่น ลำต้นและใบไม่มีขนและไม่มีมือจับเหมือนตำลึงหรือมะระอาศัยลำต้นพันรัดขึ้นไป ใบแยกออกจากลำต้นเป็นคู่ตรงบริเวณข้อ ซึ่งจะมีกิ่งแขนงแยกออกไปจากลำต้นเดิมตรงข้อ (โคนใบ) ทั้ง 2 ด้าน ใบรางจืดมีลักษณะเป็นรูปยาวรีดคล้ายใบหญ้านาง แต่ใบโตกว่าประมาณเท่าตัวและมีสีเขียวอ่อนกว่าใบหญ้านาง ขอบใบอาจเป็นหยักหรือไม่มีหยักก็ได้ ดอกมีขนาดเท่าดอกผักบุ้ง มีสีม่วง สีเหลือง สีขาว โดยรางจืดที่นิยมใช้ในการขจัดสารพิษ คือ รางจืดเถา ชนิดดอกสีม่วง เพราะมีโอสถสารที่รากและใบมากกว่าชนิดอื่น
หมอยาพื้นบ้านมีการใช้รางจืดมาอย่างยาวนาน ในด้านการเป็นยาแก้พิษ ไม่ว่าจะเป็นพิษยาเบื่อ ยาสั่ง ยาฆ่าแมลง พืชพิษ เห็ดพิษ รวมไปถึงพิษสุราและยาเสพติด พิษงู แมลงป่อง หรือตะขาบ สามารถนำไปใช้แก้พิษในสัตว์ที่ได้รับยาพิษ เช่น สุนัขหรือแมว ในตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านกล่าวว่า รากและเถา รับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใบและราก ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ผดผื่นคัน เริม สุกใส ทำลายพิษยาฆ่าแมลง หรือยาเบื่อ พิษจากการดื่มเหล้ามากเกินไป นอกจากนี้ หมอยาพื้นบ้านยังนิยมให้รางจืดในการลดความดันโลหิต รักษาอาหารแพ้และผดพื่นคันทางผิวหนัง
ภูมิปัญญาอีสานมีประสบการณ์สืบต่อกันมาว่า เมื่อจะปรุงอาหารที่เก็บมาจากป่าทุกครั้งให้ใส่ใบและดอกของเถารางจืดเข้าไปด้วย เพื่อป้องกันพิษที่อาจเกิดจากพืชหรือสัตว์ป่าที่นำมารับประทาน ซึ่งคล้ายคลึงกับหมอยาไทยใหญ่ที่แนะนำให้นำยอดและดอกของรางจืดมาแกงกินเป็นอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพ
วิธีใช้และขนาดรับประทาน
สำหรับพิษที่รุนแรง ให้การรับประทานใบ ใช้ครั้งละ 10 – 12 ใบ ตำคั้นกับน้ำซาวข้าว ให้ใช้รากสดที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไปเพียง 1 ราก โขลกหรือฝนผสมน้ำซาวข้าวจนขุ่นข้น ประมาณครึ่งแก้วถึงหนึ่งแก้ว ดื่มเฉพาะน้ำให้หมดทันทีที่มีอาการ หรืออาจใช้ใบรางจืดแห้ง 300 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ต้มดื่มน้ำครั้งละ 1 แก้ว (ดื่มขณะที่ยังอุ่นจะให้ผลดีกว่า) หรือนำใบหรือรากมาหั่นฝอย ผึ่งลมให้แห้ง บดเป็นผง หรือทำเป็นเม็ด รับประทานครั้งละ ประมาณ 5 กรัม โดยให้รับประทาน ทุก 1.5-2 ชั่วโมง
สำหรับแก้แก้ร้อนใน ถอนพิษไข้ ถอนพิษสุรา หรือบำรุงร่างกาย ให้ใช้ 4 – 5 ใบ หรือประมาณ 1.5-3 กรัม ชงน้ำดื่ม หรือทำเป็นเม็ดรับประทาน
นอกจากนี้ ยังมีงานทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่สนับสนุนการใช้รางจืดของหมอยาพื้นบ้าน อาทิ
รางจืด…ลดพิษของตะกั่ว เหมาะกับสถานการณ์มลพิษในกรุงที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากไอเสียน้ำมันเบนซิน ซึ่งสารตะกั่วสะสมเป็นโรคพิษสารตะกั่วเรื้อรังในระยะยาวได้ สารตะกั่วจะสะสมในส่วนสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้ (Hippocampus) มีการศึกษาพบว่าสารสกัดจากรางจืด สามารถลดอัตราการตายของเซลสมอง อันเนื่องจากพิษของตะกั่ว และสามารถยับยั้งการลดลงของสารต้านอนุมูลอิสระในสมองที่เกิดจากพิษของตะกั่วได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่ารางจืดยังช่วยลดพิษจากสารหนู สตริกนีน ทั้งยังป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายด้วยเหล้าได้อีกด้วย ซึ่งพบว่ารางจืดมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในระดับที่สูงมาก
รางจืดช่วยรักษาผู้ป่วยติดยาบ้า การที่หมอยาพื้นบ้านนำรางจืดมาแก้พิษยาเสพติด ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาพบว่ารางจืดมีฤทธิ์ที่กระตุ้นประสาทเช่นเดียวกับ โคเคน (Cocaine) และแอมเฟตามีน (Amphetamine) แต่มีฤทธิ์ที่อ่อนกว่า จึงมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ในการทำให้ผู้ติดยาเลิกเสพยาเสพติดได้
รางจืดช่วยรักษาโรคผิวหนัง ปัจจุบันก็มีการยืนยันจากรายงานการศึกษาที่บอกว่า รางจืด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต้านไวรัสโรคเริมได้ดี ซึ่งสนับสนุนการใช้รางจืดในการรักษาผดผื่นคัน เริม งูสวัดหรือผิวหนังอักเสบอื่นๆ
รางจืดเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง จากการที่มีการรับประทานรางจืดเป็นผัก รวมทั้งมีการศึกษาวิจัยพิษเรื้อรัง (Chronic toxicity) โดยให้หนูกินรางจืดในขนาดสูงกว่าขนาดปกติที่คนได้รับประมาณ 100 เท่า เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไม่มีพิษ
รางจืดสามารถปลูกได้ทั่วไป ชอบดินร่วนปนทราย ชอบความชุ่มชื้น หรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดปานกลาง คือ ไม่ต้องการแสงแดดที่จัดมากเกินไป ขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำ หรือใช้เมล็ดแก่ และสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป เพราะมีสารสำคัญทางยาอยู่ในปริมาณสูง สำหรับการใช้ประโยชน์จากรากรางจืด ให้เลือกรากที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป