สถาบันฯเปิดสอนการบิน26แห่ง
ผลประเมินคุณภาพระดับดี-ดีมาก
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เปิดสถิติคุณภาพสถาบันการบิน ปัจจุบันไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน 26 แห่ง ทุกแห่งได้รับผลประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบสาม ระดับดี-ดีมาก ไทยต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400-500 คน แต่สามารถผลิตนักบินได้เพียงปีละ 200-300 คน จึงต้องพัฒนาเครื่องมือและองค์ประกอบด้านการบิน มาตรฐานการศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรด้านการบินคุณภาพ สู่การเป็นฮับการบินอาเซียน
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน จำนวน 26 แห่ง โดยที่เปิดสอนในรูปแบบสถาบันการบินและคณะการบินจำนวน 5 แห่ง ซึ่งมี 3 แห่งที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-2558) และอยู่ในระดับคุณภาพดี ได้แก่สถาบันการบินพลเรือน มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเซีย มหาวิทยาลัยรังสิต และอีก 2 แห่งที่ได้เปิดสถาบันการบินเพิ่ม และจะได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) คือ มหาวิทยาลัยนครพนม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาอีก 21 แห่ง ที่มีการเปิดสอนหลักสูตรหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน ล้วนมีผลการประเมินของ สมศ. อยู่ในระดับดี-ดีมาก
แต่ทั้งนี้จะพบว่า มีสถาบันการบินพลเรือนเปิดสอนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจรใน 2 กลุ่มหลักสูตร ดังนี้ 1) หลักสูตรภาคอากาศ อาทิ หลักสูตรนักบินพาณิชย์ หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล และ 2) หลักสูตรภาคพื้นดิน อาทิ หลักสูตรเทคโนโลยีการบินบัณฑิต หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งมาได้ผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินมาแล้วรวมกว่า 20,000 คน และจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม สถาบันการบินพลเรือนเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางที่มีจุดเด่นในด้านการพัฒนาคณาจารย์ และคุณภาพบัณฑิตจบแล้วมีงานทำ อยู่ในระดับคุณภาพดีมาก
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านการบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนนักศึกษาที่สนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 56 มีนักศึกษาประมาณกว่า 5,000 คน ปี 57 มีมากกว่า 9,000 คน และปี 58 มีมากกว่า 15,000 คน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรมการบินมีความสำคัญและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากความต้องการในการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว ตลอดจนนโยบายของภาครัฐที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินและก้าวเข้าสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางอากาศของอาเซียนจึงจำเป็นต้องพร้อมทั้งในด้านสนามบิน เครื่องมือและองค์ประกอบด้านการบิน และบุคลากร รวมถึงมาตรฐานการศึกษา ไปพร้อมๆ กัน ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนาวาอากาศเอกจิรพล เกื้อด้วง ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน กล่าวว่า สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบินและดำเนินกิจการเกี่ยวกับบริการช่างอากาศยาน บริการอากาศยาน และกิจการอื่นเกี่ยวกับกิจการบินเพื่อประโยชน์ในการผลิตบุคลากรดังกล่าว เป็นสถานบันการศึกษาเฉพาะทางด้านการบินที่มีความครอบคลุมเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนมากที่สุด และได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สำนักงานคณะกรรมอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และตามมาตรฐานจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยได้รับรองการเป็นสมาชิกประเภทสามัญ Full Member, ICAO TRAINAIR PLUS Programe ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นคือไทย และอินโดนีเซีย ที่ได้รับการรับรองจาก ICAO จากจำนวน 30 ประเทศทั่วโลก
ซึ่ง สบพ. จะสามารถพัฒนาและจัดหลักสูตรการฝึกอบรม และสามารถนำหลักสูตรฝึกอบรมของประเทศสมาชิกมาจัดการเรียนการสอนให้กับหน่วยงานด้านการบินทั้งในและต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นการตอบสนองกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมการบิน ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางซ่อมบำรุงอากาศยานและการพัฒนาประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางอากาศให้มีมาตรฐานระดับสากล
ปัจจุบันประเทศไทยมีนักบินอยู่ จำนวน 2,500-3,000 คน ซึ่งในแต่ละปี ธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400-500 คน แต่ในขณะที่ปัจจุบันสามารถผลิตนักบินได้เพียงปีละ 200-300 คน รวมถึงกลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน มีทั้งสิ้น 8,000-9,000 คน ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินได้เพียง 300-400 คนต่อปี จากความต้องการมากกว่า 400 คนต่อปี
สำหรับสถาบันการบินพลเรือนสามารถผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินกว่า 1,800 คน เฉพาะนักบิน ผลิตได้ 200-300 คน ซึ่งในส่วนของการจัดการเรียนการสอนอย่างครบวงจรในอุตสาหกรรมการบิน มีคณาจารย์ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยและเพียงพอต่อการเรียนการสอนให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรม เช่น เครื่องบิน เครื่องฝึกบินจำลอง ห้องจำลองการฝึกการควบคุมจราจรทางอากาศ อุปกรณ์และเครื่องมือในการฝึกซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นต้น มีการจัดการเรียนการสอนภาคพื้นตั้งแต่ระดับฝึกอบรม อนุปริญญา ปริญญาตรี จนถึงปริญญาโท พร้อมทั้งมีการเรียนการสอนภาคอากาศในหลักสูตรนักบินส่วนบุคคล นักบินพาณิชย์ตรี ทั้งเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งหลักสูตรการบินต่างๆ อีกหลายหลักสูตร ให้กับนักศึกษาทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
โดยบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันฯ มีจุดเด่นคือ สถาบันการบินพลเรือน เป็นสถาบันการศึกษาด้านการบินที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ จึงเป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้มีผู้สมัครเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก โดยการได้รับศักดิ์และสิทธิ์ เป็นสมาชิกโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ทำให้ สบพ. สามารถพัฒนาชุดฝึกอบรมต่างๆ ของตน โดยการใช้วิธีการพัฒนาหลักสูตรตามรูปแบบของ TRAINAIR PLUS และการให้การรับรองชุดการฝึกอบรมมาตรฐาน จึงทำให้ สบพ. มีความพร้อมในการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินให้แก่หน่วยงานทางด้านการบินทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งภูมิภาคอื่นๆ ของโลกที่ต้องการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการบินพลเรือนได้อย่างมีคุณภาพ และมีจำนวนเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน การจัดการ และการดำรงระบบการขนส่งทางอากาศในปัจจุบันและอนาคตให้เป็นมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th