พาณิชย์รุกสกัดธุรกิจ “นอมินี”
คุมธุรกิจต่างด้าวระยะสั้น-ยาว
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าแก้ไขปัญหา “นอมินี” ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจรับซื้อผลไม้เพื่อส่งออก (ล้ง) โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง DSI กรมการท่องเที่ยว และจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างจริงจัง พร้อมคลอด “แผนปฏิบัติการกำกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว” ทั้งระยะสั้นและระยะยาว กำกับดูแลตรวจสอบทั้งก่อนและหลังจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล เชื่อ! กฎหมายที่ทันสมัยจะช่วยดึงดูดนักลงทุน และคุ้มครองการลงทุนของคนต่างด้าวในไทยได้ตามหลักมาตรฐานสากล
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ได้รับมอบนโยบายจากกระทรวงพาณิชย์ด้านการกำกับและตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทยให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบายอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะปัจจุบันที่กำลังมีกระแสนักธุรกิจจีนเข้ามาทำธุรกิจและอาจส่งผลกระทบกับธุรกิจคนไทย ทั้งธุรกิจรับซื้อผลไม้ส่งออก (ล้งผลไม้) และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งกรมฯ ได้มีมาตรการตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมการค้าภายใน และส่วนราชการในจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจให้สามารถกำกับดูแลได้ตลอดเวลา รวมทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกันเพื่อป้องปรามและดูแลให้ธุรกิจต่างด้าวต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
สำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวกรมฯ ได้จัดทำ “แผนปฏิบัติการกำกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว” ซึ่งกำหนดแนวทางดำเนินการใน 2 ระยะคือ ระยะสั้นภายใน 2 ปี (พ.ศ. 2559-พ.ศ. 2560) และระยะยาว (พ.ศ. 2561 -พ.ศ. 2563) ให้สามารถตอบสนองกับสถานการณ์และแก้ปัญหาเร่งด่วนได้อย่างทันท่วงที โดยมุ่งเน้นมาตรการแก้ไขปัญหานอมินีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการกำกับและตรวจสอบก่อนและหลังจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล และการดำเนินการของคนต่างด้าวให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตและเงื่อนไขที่กำหนดตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เช่น การนำส่งทุนขั้นต่ำ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับแผนยกระดับกฎหมายต่างด้าวให้เป็นมาตรฐานสากล โดยการศึกษากฎหมายของต่างประเทศ และข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขอัตราโทษที่เกี่ยวกับนอมินีให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่แท้จริงในปัจจุบัน ควบคู่กับการปรับปรุงประเภทธุรกิจบัญชีท้ายให้เหมาะสมกับสภาพการค้าการลงทุน และสอดรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่ Trading Nation โดยใน ‘ระยะสั้น’ จะเน้นธุรกิจที่มีกฎหมายและหน่วยงานเฉพาะกำกับดูแล ธุรกิจที่มีการจำกัดการบริการ และธุรกิจที่เปิดเสรีภายใต้ความตกลงอาเซียนกว่า 56 ธุรกิจ สำหรับใน‘ระยะยาว’ จะมุ่งเน้นธุรกิจที่จำเป็นต้องสงวนไว้ในลักษณะ Negative List อันเป็นธุรกิจที่มีผลกระทบกับความมั่นคง สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมของประเทศ
สุดท้ายนี้ กรมฯ เชื่อมั่นว่าการปรับปรุงกฎหมาย มาตรการกำกับดูแล และรูปแบบการตรวจสอบธุรกิจของ คนต่างด้าวที่เข้มข้นในครั้งนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่คุ้มครองดูแลธุรกิจของคนต่างด้าวที่ทันสมัยเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานทัดเทียมสากล ซึ่งเป็นประโยชน์ทางบวกโดยตรงต่อการดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติให้สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และจะส่งผลต่อดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอีกด้วย