ญี่ปุ่น-รมว.วิทย์ฯชูประชารัฐ2ชาติ
ชมไทยเจ๋งพัฒนาอุตฯยานยนต์
ญี่ปุ่นถก รมว.วิทย์ฯ จี้ขับเคลื่อนประชารัฐสองประเทศ ชี้ไทยสุดยอดพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ หนุนพัฒนาบุคลากรให้เอื้อต่อเศรษฐกิจฐานอุตสาหกรรม พร้อมเสนอไทยมุ่งเป็นศูนย์กลางการวิจัย-พัฒนา ศูนย์กลางพัฒนาผลิตภัณฑ์-ทดสอบยานยนต์โลก ศูนย์กลางผลิตยานยนต์ประเภทรถไฮบริดและรถไฟฟ้า มองไทยได้เปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ บวกกับมีทำเลที่ตั้งในจุดศูนย์กลางของตลาดเกิดใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการการยกระดับการวิจัยร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีบันทึกการหารือการยกระดับการวิจัยและพัฒนาและการพัฒนาบุคลากรแก่อุตสาหกรรมไทยกับหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายภาครัฐเพื่อดึงดูดการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น
“จากมุมมองของญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีระดับสูงและสนใจลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเห็นว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ มีทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของการตลาดเกิดใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือในการจัดทำมาตรฐานส่งเสริมการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน โดยญี่ปุ่นเสนอว่าประเทศไทยควรมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา ศูนย์กลางการพัฒนาผลิตภัณฑ์และทดสอบยานยนต์ของโลก และศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ประเภทรถไฮบริด รถไฟฟ้า HV/EV และรถกระบะ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากร อันจะช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นรูปธรรม” ดร.พิเชฐ กล่าว
รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าวต่อว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาข้อเสนอในบันทึกการหารือ ได้ดำเนินการในประเด็นความมุ่งหวังสำเร็จในหลายส่วน สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเทศไทย และเจโทร จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นอีกครั้ง และได้ลงบันทึกการหารือในระยะที่สอง เพื่อติดตามการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย ความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในการพัฒนาบุคลากร ความร่วมมือทวิภาคีในสาขาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ โดยหลังจากนี้ได้มีการหารือกันว่าจะมีการหารือกันทุกเดือนเพื่อร่วมกับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมไอที โดยจะทำงานในลักษณะประชารัฐระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายภาครัฐ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทย