‘บัญชีนวัตกรรมไทย’ หนุนธุรกิจ
เปิดโอกาสเข้าถึงตลาดภาครัฐ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักนายกรัฐมนตรี โดย สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง โดย กรมบัญชีกลาง เปิดตัว ‘บัญชีนวัตกรรมไทย’ เข้าถึงตลาดภาครัฐ สร้างโอกาสผู้ประกอบการไทย หนึ่งในกลไกภาครัฐที่หนุนให้ผลงานวิจัยจากความรู้ของคนไทย มีโอกาสนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับสู่สากล โดยอาศัยกลไกการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นตัวนำ ล่าสุดประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว 26 ผลงาน อยู่ได้นานสูงสุด8 ปี
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ผลงานวิจัยขึ้นหิ้งที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ขาดกลไกเชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัยและนวัตกรรมกับการแปลงผลงานไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งขาดการสร้างตลาดภาครัฐเพื่อรองรับนวัตกรรมที่พัฒนาโดยภาคเอกชน คณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศที่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ รวมทั้งต้องมีการกำกับดูแลการวิจัยพัฒนา และการสร้างนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสรรค์สังคมไทย รวมทั้งสร้างความยั่งยืน มั่นคง และมั่งคั่งให้แก่ประเทศในระยะยาว จึงเป็นที่มาของนโยบาย ‘บัญชีนวัตกรรมไทย’
ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐเป็นเครื่องมือทางนโยบายในการสนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการนำผลงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมไทย มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของไทยให้สามารถผลิตสู่เชิงพาณิชย์อย่างมีมาตรฐานในระดับที่เชื่อถือได้ ตลอดจนทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. เป็นหน่วยตรวจสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์และบริการที่ขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่เชื่อถือได้ และมอบหมายสำนักงบประมาณเป็นหน่วยตรวจสอบราคาของผลิตภัณฑ์และบริการที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว หากได้มาตรฐานและเป็นไปตามข้อกำหนดแล้วจึงประกาศรายการผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ ขึ้นใน “บัญชีนวัตกรรมไทย”
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า มาตรการการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ในการนำผลงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมไทย มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมสามารถผลิตสู่เชิงพาณิชย์ อย่างมีมาตรฐาน ในระดับที่เชื่อถือได้ ตลอดจนทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐเป็นเครื่องมือทางนโยบายในการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของประเทศ โดยการผลักดันงานวิจัยของภาครัฐไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
แล้วยังถือเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยหันมาผลิตผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าแบบเดิม อันจะช่วยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมที่อาศัยแรงงานและทรัพยากรเข้มข้น เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพย์สินของรัฐอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด
“ผู้ประกอบการท่านใดสนใจขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยสามารถดำเนินการได้โดยเริ่มจากเตรียมแบบคำขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยและเอกสารประกอบต่างๆ ให้ครบถ้วน จากนั้นส่งมายัง สวทช. ซึ่ง สวทช. โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย และคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติผลงานนวัตกรรมที่ขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย จะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติผลงานนวัตกรรมไทยตามหลักเกณฑ์ 4 ข้อ ได้แก่ 1) เป็นนวัตกรรมที่เป็นผลมาจากงานวิจัยและพัฒนาของคนไทยอย่างมีนัยสำคัญ
2) เป็นนิติบุคคลไทยที่มีผู้ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 51 หรือองค์กรภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการผลิตและจำหน่าย 3) ผ่านการรับรองมาตรฐานบังคับ 4) มีผลการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เมื่อคณะกรรมการฯ มีมติรับรอง สวทช. จะนำส่งรายละเอียดผลงานที่ผ่านการพิจารณาแล้วให้สำนักงบประมาณ ดำเนินการตรวจสอบราคาผลิตภัณฑ์และบริการ และจัดทำประกาศบัญชีนวัตกรรมไทย
ขณะนี้มีผลงานนวัตกรรมที่ยื่นแบบคำขอฯ มายัง สวทช. แล้วทั้งสิ้น 87 ผลงาน และที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการฯ แล้วจำนวนทั้งสิ้น 34 ผลงาน โดยเวลานี้สำนักงบประมาณได้ประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยเรียบร้อยแล้ว(28มี.ค.59) จำนวน 26 ผลงาน” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ด้าน นายพิชัย คุ้มหรั่ง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานงบประมาณ 2 สำนักงบประมาณ กล่าวว่า “นโยบายบัญชีนวัตกรรมไทยถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นผลงานนวัตกรรมให้กับภาครัฐได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีสนับสนุนสินค้าและบริการผ่านบัญชีนวัตกรรมไทย ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีกรณีพิเศษ โดยสำนักงบประมาณได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานตรวจสอบราคาผลิตภัณฑ์และบริการ และจัดทำประกาศบัญชีนวัตกรรมไทย โดยผลงานที่ได้รับการรับรองจาก สวทช.มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จะทยอยตรวจสอบราคาและจะประกาศเพิ่มเติมในลำดับถัดไป”
ขณะที่ นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กล่าวเสริมว่า “สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยหลักๆ คือ ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นจะได้รับการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย เป็นเวลาสูงสุด 8 ปี เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยเลือกจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่มีรายชื่อตามบัญชีนวัตกรรมไทย โดยวิธีกรณีพิเศษหรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีวิธีการทํานองเดียวกันตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุที่หน่วยงานนั้นๆ ถือปฏิบัติ”