TMB มองส่งออกCLMV สดใส
ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจสตรอง
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองส่งออกไปตลาด CLMV ยังคงเติบโตต่อได้ร้อยละ 6.0 ในปี2559 หลังจากโตร้อยละ 7.7 ในปี 2558 ผลจากมีปัจจัยกำลังซื้อของ CLMV ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และการเข้าสู่ AEC อย่างเป็นทางการหนุน สินค้าส่งออกเด่นได้แก่ กลุ่มสินค้าที่โดดเด่นมีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ เครื่องจักรการเกษตร รถยนต์ วัสดุก่อสร้างและเครื่องดื่ม โดยเวียดนามยังคงเป็นตลาดหลักในกลุ่ม CLMV มีสัดส่วนร้อยละ 40
ในปี 2558 ที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกไทยหดตัวร้อยละ 5.8 ซึ่งเป็นการหดตัวในแทบทุกหมวดสินค้า และในตลาดคู่ค้าสำคัญ อาทิ ยุโรป และจีนที่หดตัวร้อยละ 5.7 และร้อยละ 5.4 ตามลำดับ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกไปตลาด CLMV ยังคงเติบโตแข็งแกร่งโดยขยายตัวร้อยละ 7.7 ทำให้สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยัง CLMV ขยับขึ้นไปที่ร้อยละ 11.0 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าตลาดจีนและญี่ปุ่น
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นได้ว่าประเภทสินค้าที่ไทยส่งออกไปตลาด CLMV ร้อยละ 39 เป็นสินค้าสำเร็จรูปประเภทอุปโภคบริโภค ซึ่งได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร เสื้อผ้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปตลาดอาเซียน-5 ( กลุ่ม ASEAN-5 ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์)และตลาดจีนที่มีสัดส่วนอยู่ร้อยละ 30.5 และร้อยละ 13.7 ตามลำดับ และยิ่งเมื่อพิจารณาด้วยทิศทางการส่งออกในช่วงปี 2556-2558 พบว่า CLMV มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ11.2 ต่อปี เป็นหนึ่งในไม่กี่ตลาดที่สามารถรักษาการขยายตัวในขณะที่ตลาดอื่นๆกลับชะลอตัวลง
อนึ่ง ความต้องการสินค้าเหล่านี้ผูกโยงกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ หรือขึ้นอยู่กับภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เป็นสำคัญ ในช่วงปี 2552-2557 CLMV มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี ส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV มีสัดส่วนใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2552 ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 55.3 ของเศรษฐกิจไทย และในปี 2557 สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 68.5 ด้วยอานิสงส์ของปัจจัยหลัก คือ 1) การเร่งพัฒนาประเทศ ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2) กระแสการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามาใน CLMV อย่างต่อเนื่อง 3) การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ โดยผลประโยชน์ที่เด่นชัด คือการลดภาษีภายในเขตการค้าเสรี (AFTA) ซึ่งในปี 2558 ภาษีสินค้าในกลุ่มบัญชีลดภาษี (Inclusion List) เกือบทั้งหมดถูกปรับเป็นศูนย์ กระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ
ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ปี 2559 CLMV จะยังคงรักษาการเป็นตลาดที่แนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางการหดตัวของตลาดอื่นๆ ทั้ง อาเซียน-5 ญี่ปุ่น และยุโรป และมีส่วนช่วยพยุงการส่งออกในภาพรวมไม่ให้หดตัวไปมาก โดยประเมินว่าการส่งออกไป CLMV ในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 6.0 กลุ่มสินค้าที่โดดเด่นมีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ เครื่องจักรการเกษตร โดยเฉพาะส่งออกไปตลาดกัมพูชา รถยนต์ส่งออกไปตลาดเวียดนามและลาว วัสดุก่อสร้างและเครื่องดื่ม ส่งออกไปตลาดเมียนมาร์และกัมพูชา เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน กระจายไปทุกประเทศใน CLMV และสินค้าเกษตร โดยเฉพาะน้ำตาลส่งออกไปเมียนมาร์ และเวียดนาม ส่วนผักผลไม้ ส่งออกไปเวียดนาม
ทั้งนี้ ในภาพรวมเวียดนามยังคงเป็นตลาดหลักในกลุ่ม CLMV โดยมีสัดส่วนร้อยละ 40 ซึ่งในปี 2558 มูลค่าส่งออกขยายตัวร้อยละ 12.9 รองลงมาเป็นกัมพูชา มีสัดส่วนร้อยละ 22 และขยายตัวร้อยละ 9.6
สำหรับแนวโน้มในระยะยาว ตลาด CLMV จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายปัจจัยหนุน ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงจากการเป็นแหล่งทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ที่ดึงดูดการลงทุนต่างชาติ การยอมรับในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าไทย แผนการพัฒนาเส้นทางขนส่งร่วมกัน รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการค้าชายแดน