วช.ประชุมพัฒนาสิ่งประดิษฐ์
ตั้งเป้าดันเข้าตลาดกว่า 500ชิ้น
วช.จัดประชุม “การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ในบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย” เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิจารณาผลงานที่อยู่ในบัญชี ทั้งด้านความมั่นคง การแพทย์และสาธารณสุข คมนาคมและเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การจัดสรรทุนในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ในบัญชีสิ่งประดิษฐ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ “บัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย” และมีการขยายผลในเชิงพาณิชย์ต่อไป ระบุ เวลานี้มีสิ่งประดิษฐ์อยู่ในบัญชีมากกว่า 1,000 ชิ้น จะผลักดันให้สามารถขายได้จริงเกินครึ่งภายในปี 2559 นี้
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติและประธานเปิดการประชุม เรื่อง “การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ในบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย” ณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) สภาวิจัยแห่งชาติร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.)และสำนักงบประมาณร่วมกันทำเรื่องของการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ไทยให้เข้าสู่ตลาด ขณะนี้ความต้องการของภาครัฐหรือนโยบายของรัฐบาลต้องการผลักดันให้มีสินค้าหรือนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากฝีมือคนไทยเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาสินค้าประเภทนี้ของคนไทยยังมีอุปสรรคอยู่มากในการที่จะเข้าสู่ตลาด รัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรีจึงมีมาตรการที่จะช่วย โดยสำรวจว่า ขณะนี้มีผลงานสิ่งประดิษฐ์ หรือมีผลงานที่เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการที่เป็นของคนไทยมากน้อยขนาดไหน และพร้อมขายแล้วหรือยัง แล้วสำนักงานงบประมาณสำรวจดูว่า มีหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งรวมทั้งหน่วยราชการ องค์การรัฐวิสาหกิจทั้งหลายว่ามีความต้องการจะซื้อหรือไม่ จากนั้นมาจับคู่กัน
หลังจากทำเรื่องนี้แล้ว ทาง วช.ได้รับมอบหมายให้ดูแลสิ่งประดิษฐ์และผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่พร้อมขายจริง เพราะบางอย่างเป็นแค่สินค้าต้นแบบยังไม่ถึงขั้นผลิต บางอย่างถึงขั้นสามารถผลิตได้แล้ว แต่การจะขายจริงในตลาดจริงไม่ได้ง่าย เพราะมีการกำหนดคุณสมบัติ ต้องผ่านมาตรฐานหลายอย่าง เช่น เรื่องของการแพทย์ ยาและอาหาร หรือเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. หรือถ้าเป็นสินค้าอุตสาหกรรมก็ต้องผ่านสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้หากปล่อยให้เป็นไปตามปัจจุบัน จะทำให้โอกาสจะได้ขึ้นทะเบียนจะยากมากเพราะขาดข้อมูลสนับสนุน เนื่องจากนวัตกรรมเป็นเรื่องใหม่ หากไม่ได้ให้ความรู้ใหม่แก่ฝ่ายผู้ตรวจก็อาจไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือการขึ้นทะเบียนอาจใช้เวลานานมาก ซึ่งตามขั้นตอนอาจใช้เวลา 1-3 ปี ตรงนี้ทางนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายเร่งรัดหรือฟาสต์แทร็ก อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าและสิ่งประดิษฐ์อีกมากที่ยังขาดอีกหลายขั้นตอน วช.เป็นตัวแทนคอบช.ร่วมมือกับสำนักงบประมาณในการตรวจสต็อกว่าใครมีอะไรอยู่บ้างแล้วและขาดขั้นตอนไหน และได้รับนโยบายจากภาครัฐให้สนับสนุนสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ได้เข้าไปสู่สิ่งที่ขายได้จริง จึงเป็นที่มาของการประชุม
สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นความต้องการของภาครัฐแบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่คือ 1.ด้านสุขภาพและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ,2.ด้านความมั่นคง อาวุธยุทโธปกรณ์ ,3.ด้านเกษตร ปุ๋ย ,ด้านคมนาคม ซึ่งเวลานี้ไทยกำลังพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งระบบรางมูลค่าเป็นแสนล้าน ดังนั้นมีอะไรที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นของไทย เช่น หมอนรองยางรถไฟ คอนกรีตพิเศษที่รอง ถ้าพัฒนาได้เราต้องส่งเสริม และด้านอื่น ๆ อาทิ พลังงานทดแทน เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเราพร้อมจะให้การสนับสนุนเฉพาะด้าน
“ผลงานของคนไทยสามารถมาขึ้นทะเบียนไม่จำกัดว่าเป็นผลงานจากหน่วยงานไหน แต่ต้องตรงกับความต้องการของภาครัฐด้วย ซึ่งเวลานี้มีมาขึ้นทะเบียนบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยแล้วมากกว่า 1,000 ชิ้น แต่จะพยายามผลักดันให้สามารถขายได้เกินกว่าครึ่งภายในปี 2559 นี้และต้องตรงความต้องการของภาครัฐด้วย ซึ่งหมายถึงการจะได้ย้ายเข้าสู่ “บ้ญชีนวัตกรรมไทย” สำหรับให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อต่อไปนั่นเอง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าได้เป็นอย่างมาก อยากให้คนไทยนิยมใช้ของไทย สนับสนุนและเชื่อใจสินค้าที่เป็นของคนไทย คุณภาพอาจจะเท่าหรือด้อยกว่านิดหน่อย”
ด้านนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิกาารคระกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ผลการวิจัย เทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในการผลักดันประเทศ จึงตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศหรือคพน.ขึ้น เพื่อจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา ทรัพย์สินทางปัญญา กำลังคนโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
ดังนั้น การจัดทำ “บัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย” และ “บัญชีนวัตกรรมไทย” ถือเป็นมาตรการสำคัญที่คพน.มุ่งเน้นให้มีขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการนำผลงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศและเป็นการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมให้มีมาตรฐานเทียบเคียงที่เชื่อถือได้ มีผลผลิตสู่เชิงพาณิชย์ โดยอาศัยกลไกการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นตัวนำ
อย่างไรก็ตามการประชุมในครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เกี่ยวข้องกับผลงานสิ่งประดิษฐ์ในบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย โดยเฉพาะผลงานที่สอดคล้องกับความต้องการของรัฐ ได้เข้าร่วมพิจารณาผลงานที่อยู่ในบัญชี โดยเฉพาะดานความมั่นคง การแพทย์และสาธารณสุข คมนาคมและเกษตกรเพื่อนำไปสู่การจัดสรรทุนในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ สะท้อนความต้องการและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ในบัญชีฯให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ “บัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย” และมีการขยายผลในเชิงพาณิชย์ต่อไป