ก.วิทย์ฯ สร้างความร่วมมือ
นำชุมชนพ้นวิกฤติภัยแล้ง
สสนก. กระทรวงวิทย์ฯ เซ็นMOU ร่วมสภาเกษตรกรแห่งชาติวนงาน เพื่อนำตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ่ายทอดสู่เครือข่ายเกษตรกร ให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนได้ด้วยตนเอง สร้างความมั่นคงด้านน้ำ และผลผลิตทางการเกษตร ที่ผ่านมาขยายผลการนำแนวพระราชดำริฯใช้ใน60 ชุมชนแกนนำ ขยายแนวคิดไปสู่ชุมชนใกล้เคียงได้มากกว่า 600 หมู่บ้าน
มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ และมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย จัดงาน “บริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริสู่ความยั่งยืน” ถ่ายทอดความสำเร็จในการนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำพาชุมชนผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งได้ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นประธานในพิธี
ในงานมีกิจกรรมใหญ่ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “สารสนเทศเพื่อบริหารจัดการน้ำโดยเกษตรกรอย่างยั่งยืน” ระหว่าง สสนก. กับ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อนำตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ่ายทอดสู่เครือข่ายเกษตรกร ให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนได้ด้วยตนเอง เกิดความมั่นคงด้านน้ำ และผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการมอบนโยบายสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริเพื่อเกษตรกรอย่างยั่งยืน ส่วนกิจกรรมเรื่องที่ 2 คือ การเสวนาเรียนรู้สู่การลงมือทำในเรื่องการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า เวลานี้กระทรวงวิทย์ฯมีเครือข่ายที่เป็นต้นแบบให้กับสังคม 60 ต้นแบบ และกระจายอยู่ตามหมู่บ้านอีกกว่า 600 หมู่บ้าน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้นับเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่า ปัจจุบันสังคมไทยพร้อมที่จะรองรับสิ่งที่เรียกว่าความรู้ และจากอดีตที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าเราไม่ควรหยุดอยู่แค่การบริหารจัดการน้ำ
แต่หลังจากการบริหารจัดการน้ำแล้วควรมีกิจกรรมที่จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับชุมชนได้โดยการนำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จากตัวอย่างบ้านลิ่มทอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ชาวบ้านเริ่มประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ การปลูกพืชอินทรีย์ การขุดบ่อปลาซึ่งทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและไม่เพียงแต่ภายในประเทศไทยเท่านั้น สำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations International Strategy for Disaster Reduction – UNISDR) ได้เข้ามาดูงานและเกิดความสนใจอยากใช้ต้นแบบการพัฒนาและขยายผล เป็นเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย เพื่อนำไปเผยแพร่ในเวทีสากล