นักวิจัยมธ.17รางวัลเวทีเจนีวา
ไฮไลท์-เสียงพูดบอกอัลไซเมอร์
นักวิจัยธรรมศาสตร์ กวาดรางวัลสูงสุดรวม 17 รางวัลจากงานประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้ง 44 ณ กรุงเจนีวา ด้วยผลงานสิ่งประดิษฐ์และวิจัยทางเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตหลากหลายรูปแบบ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไฮไลท์ “เครื่องตรวจคัดกรองโรคอัลไซเมอร์จากเสียงพูด” และ “เครื่องตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋า Hermès” กระเป๋าราคาหลักล้านที่เป็นที่นิยมของเศรษฐีทั่วโลก
นักวิจัยไทยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลจากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 44 (44th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จำนวนสูงสุดรวม 17 รางวัล ประกอบด้วย 4 เหรียญทองเกียรติยศ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 5 เหรียญทองแดง และ 4 รางวัลSpecial Prize เผยทีมธรรมศาสตร์สร้างความตื่นตาตื่นใจในเวทีประกวด ด้วยผลงานสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ อาทิ 4 ผลงานรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ“เครื่องมือตรวจประเมินผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมโดยใช้การรู้จำเสียงพูด” “เครื่องตรวจคัดกรองจอตาอักเสบจากเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส“ “เตียงปรับองศาเพื่อการจัดท่าสำหรับทารก/เด็กเล็กระบบอัจฉริยะ”และ“บรรจุภัณฑ์แบบ Active and Smart Packing สำหรับลำไยไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เพื่อการส่งออก”
นอกจากนี้ยังมีผลงานแปลกใหม่“เครื่องตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋าแบรนด์เนม Hermès โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์” และอีกหลายผลงานสร้างชื่อให้ประเทศ โดยผลงานทั้งหมดจะถูกส่งเข้าระบบบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย โดยสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) แบบ Fast Track เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์เป็นลำดับต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า คณะวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถคว้ารางวัลสูงสุดถึง 17 รางวัล ได้แก่
1. รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold medal with the congratulations of the jury) 4 เหรียญ
1·1 เครื่องมือตรวจประเมินผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมโดยใช้การรู้จำเสียงพูด คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ (ร่วมด้วยนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ)
1.2 เครื่องเชื่อมต่อภาพถ่ายจอตาจากการถ่ายหลากหลายมุมและตรวจคัดกรองจอตาอักเสบจากเชื้อไซโตเมกาโลไวรัสอย่างอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ร่วมด้วยนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
1.3 เตียงปรับองศาเพื่อการจัดท่าสำหรับทารก/เด็กเล็กระบบอัจฉริยะ (PPG-Intelligence) สามารถตั้งโปรแกรมการทำงานล่วงหน้าแบบอัตโนมัติหรือ ทำงานผ่านสมาร์ทโฟนหรือผ่านเครื่องตรวจจับเสียงเสมหะ พร้อมทั้งมีระบบวิเคราะห์เสียงหายใจที่ผิดปกติ ระบบตรวจวัดการหายใจและระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นถ้าพบภาวะหยุดหายใจ จากคณะพยาบาลศาสตร์
1.4 บรรจุภัณฑ์แบบ Active and Smart Packing สำหรับลำไยไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เพื่อการส่งออก
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2.รางวัลเหรียญทอง (Gold medal) 2 เหรียญ
2.1· อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (I Walk 2.0) คณะวิศวกรรมศาสตร์
2.2· เครื่องมือใช้ตรวจวัดการจับกันของสารชีวโมเลกุล (antigen และantibody) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3. รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) 2 เหรียญ
3.1 การจำลองโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยด้วยวิธีไฟไนท์อิลิเมนต์ สำหรับการบำบัดเชิงความร้อนด้วยเลเซอร์ในชั้นเนื้อเยื่อมนุษย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
3.2 การทำนายและวิเคราะห์การใช้น้ำประปาที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่โดยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง
คณะวิศวกรรมศาสตร์
4. รางวัลเหรียญทองแดง (Bronze medal) 5 เหรียญ
4·1 การจำลองโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยด้วยวิธีไฟไนท์อิลิเมนต์สำหรับการบำบัดเชิงความร้อนด้วยเลเซอร์ในชั้นเนื้อเยื่อมนุษย์ (Computer Simulation Based on FEM of Laser-induced Thermotherapy in Human Layered Skin-Tissue) คณะวิศวกรรมศาสตร์
4·2 เครื่องตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋าแบรนด์เนมHermès โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ (ร่วมกับนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
4·3 เครื่องช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก (Baby-CPR Automatic) คณะพยาบาลศาสตร์
4·4 เครื่องพยากรณ์การเกิดโรคของต้นข้าวในนาข้าว (Rice plant diseases forecaster in paddy field) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
4·5 การแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างอากาศและน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์
5. รางวัลพิเศษ (Special prize) 4 เหรียญ
5·1 เตียงปรับองศาเพื่อการจัดท่าสำหรับทารก/เด็กเล็กระบบอัจฉริยะ (PPG-Intelligence) คณะพยาบาลศาสตร์
5·2 บรรจุภัณฑ์แบบ Active and Smart Packing สำหรับลำไยไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เพื่อการส่งออก
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
5·3 อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (I Walk 2.0) คณะวิศวกรรมศาสตร์
5·4 การจำลองโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยด้วยวิธีไฟไนท์อิลิเมนต์สำหรับการบำบัดเชิงความร้อนด้วยเลเซอร์ในชั้นเนื้อเยื่อมนุษย์ (Computer Simulation Based on FEM of Laser-induced Thermotherapy in Human Layered Skin-Tissue) คณะวิศวกรรมศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะผู้นำทีมนักวิจัย มธ. เข้าร่วมงานประกวดในครั้งนี้ กล่าวเสริมว่า ผลงานที่สร้างความตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษในงานดังกล่าว ได้แก่ “เครื่องมือตรวจประเมินผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมโดยใช้การรู้จำเสียงพูด” นวัตกรรมอัจฉริยะที่สามารถคัดกรองโรคอัลไซเมอร์และภาวะความจำบกพร่องเล็กน้อย จากเสียงพูด “เตียงปรับองศาเพื่อการจัดท่าสำหรับทารก/เด็กเล็กระบบอัจฉริยะ” นวัตกรรมตรวจจับเสียงเสมหะในปอดของทารกและเด็กเล็ก และหาตำแหน่งของเสียงเสมหะทำงานสอดคล้องกับเตียงที่สามารถปรับระดับได้อัตโนมัติ เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิด และ “เครื่องตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋าแบรนด์เนม Hermès โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์” นวัตกรรมตรวจสอบกระเป๋า Hermès กระเป๋าราคาเรือนล้านที่เป็นที่นิยมของเศรษฐีทั่วโลก โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก ซึ่งผลงานนวัตกรรมดังกล่าวได้ต่อยอดมาจากงานนวัตกรรมตรวจพระเครื่องประเภทเหรียญปั้มว่าแท้หรือปลอม ซึ่งเคยได้รับรางวัลนวัตกรรมนานาชาติที่ประเทศเกาหลีเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผลงานทุกผลงานที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจะถูกส่งเข้าระบบบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย โดยสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) แบบ Fast Track เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์เป็นลำดับต่อไป อย่างไรก็ดี การเข้าร่วมการประกวดดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ผลงานของนักวิจัยไทยได้ก้าวสู่เวทีโลกอย่างเต็มภาคภูมิ
“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21”
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4493หรือเว็บไซต์www.tu.ac.th