“รอยเลื่อน” จุดเสี่ยงธรณีพิบัติ
จี้รัฐหนุนวิจัยรอยเลื่อนที่ซ่อนอยู่
ทีมวิจัยแผ่นดินไหว สกว. ชี้แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นและเอกวาดอร์แค่บังเอิญเกิดไล่เลี่ยกันแต่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ย้ำไทยมีรอยเลื่อนที่มีศักยภาพทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ต้องปรับกฎหมายควบคุม และเร่งกำจัดอาคารอ่อนแอให้ต้านทานแผ่นดินไหวเท่ามาตรฐานสากล และบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจแก่คนรุ่นใหม่ ด้านนักวิจัยโครงการฯ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แนะภาครัฐสนับสนุนการศึกษาวิจัย “รอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่” ที่ต้องใช้ทุนสูงและเครื่องมือสมรรถนะสูง
รศ. ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดเวที “จากแผ่นดินไหวญี่ปุ่นและเอกวาดอร์ สู่การรับมือในประเทศไทย” จัดโดย สกว. กรมอุตุนิยมวิทยา และสภาวิศวกร ณ ห้องประชุม สกว. เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นและเอกวาดอร์ ด้วยองค์ความรู้จากงานวิจัยของ สกว. อันจะนำไปสู่การเตรียมพร้อมรับมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพของสาธารณชนที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ
ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการวิจัยลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย วิเคราะห์ภาพรวมและผลกระทบเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นและเอกวาดอร์ ว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ช่วงนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดในประเทศที่มีแผ่นดินไหวชุกชุมอยู่แล้ว
ส่วนในประเทศไทยหากพิจารณาจากตำแหน่งแผ่นดินไหวที่กรมอุตุนิยมวิทยาในไทยและประเทศต่าง ๆ ตรวจวัดได้ ร่วมกับข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังจากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า หลายครั้งตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหวไม่ตรงกับรอยเลื่อน ซึ่งอาจเกิดจาก”รอยเลื่อนที่มองไม่เห็น” ทั้งนี้ในไทยมี 14 รอยเลื่อนมีพลังที่มองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งรอยเลื่อนหลายแนวมีศักยภาพทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางถึงใหญ่ได้ เช่น ที่กาญจนบุรี อาจมีแผ่นดินไหวขนาดมากถึง 7.5 ริกเตอร์ จึงต้องเตรียมการรับมือ ในส่วนของกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ภายใต้กรมโยธาธิการและผังเมือง ขณะนี้กำหนดว่าอาคารที่สูงเกิน 15 เมตร ต้องออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว แต่อาคารเล็ก ๆ ก็มีความเสี่ยงอันตรายจึงยกร่างให้ครอบคลุมอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป
ด้านผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยโครงการฯ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นเป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นมีการเลื่อนตัวแบบด้านข้างจากรอยเลื่อนที่มีพลัง โดยบริเวณนี้อยู่ในแนวมุดตัวระดับค่อนข้างลึก จากสถิติในรอบ 100 ปี มีแผ่นดินไหวระดับตื้นขนาดใหญ่มากกว่า 5 เกิดขึ้นเพียง 14 ครั้ง โดยเกาะคิวชูมีรอยเลื่อนที่มีศักยภาพประมาณ 16 รอยเลื่อน ที่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ส่วนที่เอกวาดอร์มีลักษณะการชนกันของรอยเลื่อนแบบย้อนกลับมุมต่ำลงไปในทะเล และเกิดสึนามิขนาดเล็ก ทั้งนี้ในบริเวณอเมริกาใต้มีแผ่นเปลือกโลกนาซกาที่ชนและมุดตัวในแผ่นอเมริกาใต้เป็นแนวยาวหลายพันกิโลเมตร ทำให้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นตลอด โดยครั้งใหญ่ที่สุดคือ ขนาด 9.5 ในปี 1960 ที่ประเทศชิลี
อย่างไรก็ตามเนื่องจากระยะทางจากญี่ปุ่นและเอกวาดอร์ไกลกันมากประมาณ 15,000 กม. ดังนั้นพลังงานที่เกิดจากแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นจึงเหลือน้อย กว่าจะเดินทางไปถึงเอกวาดอร์จึงเหลือน้อยมากและไม่น่าทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่เอกวาดอร์ได้ ทั้งสองเหตุการณ์จึงไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรง ทั้งนี้จะมีโอกาสเกิดอาฟเตอร์ช็อคได้อีกนับปี และถึงแม้ว่าช่วงนี้เกิดแผ่นดินไหวบ่อย แต่โดยเฉลี่ยในรอบในรอบสิบปีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ก็ไม่ได้เกิดเพิ่มขึ้น
สำหรับผลกระทบประเทศไทยนั้น ผศ. ดร.ภาสกรกล่าวว่า มีค่อนข้างน้อยมาก ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ยืนยันว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จากที่ต่าง ๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นเนปาล สุมาตรา ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ จะส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนและการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากอยู่ไกลกันมาก เป็นเพียงแค่การสั่นสะเทือน ประชาชนไม่รู้สึก แต่เครื่องมือสามารถวัดได้ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของจิตวิทยามากกว่า ไม่เกี่ยวข้องในเชิงวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงยังมีอยู่บ้างได้แก่ บริเวณรอยเลื่อนที่มีพลัง 14 แห่งและกระจายอยู่ใน 22 จังหวัด ตามข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุด แผ่นดินไหวในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในภาคเหนือ ตามมาด้วยภาคตะวันตก ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกือบทุกรอยเลื่อนในประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง โดยแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 5 เกิดขึ้นไป ประมาณประมาณ 10 ครั้ง โดยในรอบ 50 ปี รอยเลื่อนแต่ละตัวมีศักยภาพที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 6 ในอนาคต
นอกจากนี้ความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวของไทยยังมาจากรอบบ้าน เช่น การเกิดสึนามิจากสุมาตรา หรือแผ่นดินไหวในเมียนมาร์และลาว ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงจากเมืองที่มีชั้นดินอ่อน มีตึกสูง เช่น กรุงเทพฯ เป็นต้น
ผศ. ดร.ภาสกรกล่าวต่อว่า “สำหรับอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่เคยมีการพูดถึงกันมาก่อน ได้แก่ ใต้เมืองใหญ่มีรอยเลื่อนอยู่หรือไม่ ซึ่งหากมีอยู่จะมีพลังทำให้เกิดความเสี่ยงสูงมาก จำเป็นต้องมีการศึกษา “รอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่” (hidden fault หรือ blind fault)เหล่านี้ในอนาคต โดยขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบเพื่อทำการศึกษาโดยตรง ซึ่งภาคการศึกษาก็สามารถทำได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยความสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสำคัญ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูง รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจคลื่นไหวสะเทือน โดยการศึกษาที่ความลึกระดับ 1-2 กิโลเมตรก็จะได้ข้อมูลสำคัญ ๆ จำนวนมาก
“ที่ผ่านมา อาจมีข้อมูลบางส่วนจากบริษัทน้ำมันในบางพื้นที่แต่เป็นข้อมูลที่ไม่เปิดเผย ในบริเวณรอบ กทม.อาจมีการศึกษามาบ้างแต่ไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด เช่น รอยเลื่อนนครนายก ซึ่งควรจะทำการศึกษาต่อไปในอนาคต สำหรับในภาคประชาชนนั้น ต้องสร้างอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรงขึ้น”
สำหรับนายบุรินทร์ เวชบรรเทิง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวถึง การพัฒนาระบบตรวจวัดและเฝ้าระวังแผ่นดินไหวมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับจากปี 1965 กระทั่งหลังจากเหตุสึนามิในปี 2547 กรมฯได้จัดตั้งระบบตรวจวัดแผ่นดินไหว 2 ระยะ รวม 40 สถานี ปัจจุบันระบบเครือข่ายสมรรถนะสูงตรวจเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศไทย ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกัน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ภายใต้กรอบความร่วมมือในการจัดการข้อมูลทั้งเชิงวิชาการ การปฏิบัติการ และบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันตามเวลาจริง ซึ่งได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี 2558
“มีการบูรณาการร่วมกัน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยาทำหน้าที่แจ้งข่าวสาร กรมทรัพยากรธรณีคอยตรวจแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว กฟผ.มีเครื่องมือวัดการสั่นสะเทือนของเขื่อนต่าง ๆ ซึ่งมีการติดตั้งเครือข่ายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”
ในส่วนของเครื่องมือและเทคโนโลยีนั้น ในปี 2559 กรมอุตุนิยมวิทยาได้รับงบประมาณจัดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยข้อมูลที่ขาดแคลนหลังการเกิดแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย คือ อัตราเร่งของพื้นดิน โดยเฉพาะในชุมชนเมือง เนื่องจากส่วนใหญ่ความเสียหายมักเกิดขึ้นในชุมชนเมืองเป็นบริเวณกว้าง ปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดทั่วประเทศประมาณ 100 แห่งทั้งในบริเวณรอยเลื่อนและนอกรอยเลื่อนเพื่อให้สามารถตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจากนอกประเทศได้ด้วย
นอกจากนี้ต้องวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก โดยวางแผนจะเพิ่มจาก 5 แห่งเป็น 13 แห่ง เพื่อเป็นข้อมูลว่า มีการขยับตัวมากน้อยเพียงใด การสะสมพลังงานเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร โดยเครือข่ายการตรวจวัดในอนาคตที่กำลังติดตั้งจะเพิ่มขึ้นเป็น 200 แห่ง เฝ้าระวังตลอดเวลา 24 ชม. และมีมาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศ ปัจจุบันศักยภาพในการตรวจวัดแผ่นดินไหวของระบบเครือข่ายในภาคเหนืออยู่ที่ขนาดประมาณ 2 ขึ้นกับว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอยู่ใกล้สถานีตรวจวัดมากน้อยเพียงใด
“โดยสรุปเครื่องมือที่นำมาใช้ตรวจวัดและเฝ้าระวังแผ่นดินไหวประกอบด้วย เครื่องมือตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดินเพื่องานด้านวิศวกรรม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้วิศวกรสามารถนำไปใช้ออกแบบบ้านเรือนได้,มีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวใกล้จุดเสี่ยงที่กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังและที่ห่างไกล ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง เดิมใช้ของสหรัฐฯ แคนาดาและล่าสุดในปี 2559 ใช้ของเยอรมนี ซึ่งนิยมใช้ในประเทศอาเซียนและยุโรป ,ใช้เซนเซอร์วัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่เรียกว่า GPS และสุดท้ายที่จะขาดไปไม่ได้คือ “คน” ที่ยังต้องทำงานควบคู่กันไป”
ด้าน ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยโครงการฯ ในฐานะเลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวถึงการออกกฎหมายวิศวกรรมควบคุมโครงสร้างเสี่ยงแผ่นดินไหว ว่าสภาพบ้านในญี่ปุ่นเป็นบ้านหลังเล็ก โครงสร้างไม่แข็งแรง เสาและคานมีขนาดเล็ก ยึดต่อด้วยตะปูที่รอยต่อไม่แข็งแรง หลังคากระเบื้องน้ำหนักมาก ประกอบกับแรงแผ่นดินไหวมีมาก อาคารเก่าที่ก่อสร้างมานานยังมีอยู่จำนวนมาก รัฐบาลญี่ปุ่นจึงตั้งเป้าในการเพิ่มมาตรฐานอาคารต้านทานแผ่นดินไหวให้เป็นร้อยละ 90 โดยมีมาตรการจูงใจคือ การลดหย่อนภาษี และให้เงินสนับสนุน แต่ก็ยังมีเจ้าของอาคารจำนวนมากที่ยังไม่ยอมปรับปรุงอาคาร ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการจูงใจให้เกิดการปรับปรุงใดๆ
ส่วนแผ่นดินไหวที่เอกวาดอร์ พบว่ามีการวิบัติในลักษณะชั้นอ่อนในอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากเสาเล็กและบาง เช่นเดียวกับบ้านเรือนในประเทศไทย ทั้งนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาคารนั้นได้เสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในประเทศไทย โดยให้บังคับอาคารที่มีความสูงต่ำกว่า 15 เมตร เพื่อให้ครอบคลุมอาคารขนาดเล็ก กฎหมายของสภาวิศวกรเสนอให้มีการกำหนดให้อาคารต่ำกว่า 3 ชั้น ที่มีพื้นที่เกิน 150 ตารางเมตร เป็นวิศวกรรมควบคุม เพื่อให้มีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตเข้ามาออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ทั้งนี้รัฐควรกำหนดมาตรการไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมายหรือมาตรการจูงใจให้อาคารเก่าต้องปรับปรุงเสริมกำลังอาคารอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่งานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ สกว. ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีแนวทางการปรับปรุงอาคารต้านแผ่นดินไหว โดยการหุ้มเสาด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก แผ่นเหล็ก และแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์
ศ. ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ปัจจุบันหน่วยงานราชการที่มีแบบมาตรฐานให้ประชาชนในการก่อสร้างบ้านเรือน แต่อาจยังไม่ต้านทานแผ่นดินไหว แม้จะมีการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หากผู้เกี่ยวข้องยังไม่มีความรู้ในการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวมากเพียงพอก็จะเกิดความเสียหายได้ จึงอยากให้ใส่หลักสูตรในระดับปริญญาตรี เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจแก่คนรุ่นใหม่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างหล่อเป็นชิ้นจากโรงงานมาประกอบ ทำงานเร็ว ใช้กำแพงสำเร็จรูป อันตรายหรือไม่อยู่ที่รอยต่อระหว่างชิ้นส่วนแต่ละชิ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการต้านทานแผ่นดินไหว เราจึงต้องพยายามกำจัดอาคารอ่อนแอให้แข็งแรงมากขึ้น โดยต้องมีทั้งกฎหมายและกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งการออกแบบอาคารในประเทศไทยจะใช้มาตรฐานเดียวกับที่ใช้ในสหรัฐ นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ประเทศไทยอาจมีแผ่นดินไหวขนาดเท่ากับคุมาโมโตะในญี่ปุ่น หากเกิดใกล้เมืองใหญ่ในภาคเหนือของไทย ก็จะเกิดความรุนแรงที่สร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนได้มากเช่นกัน เพียงแต่ปริมาณการเกิดแผ่นดินไหวต่อปีน้อยกว่าญี่ปุ่นจึงมีความเสี่ยงน้อยกว่า