ครม.อนุมัติแผนมุ่งเป้าR&D
ชูอุตฯผลิต-ชิ้นส่วนรถไฟฟ้าใน5ปี
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ แผนมุ่งเป้าด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ พร้อมกำหนดเป้าหมายให้ไทยมีอุตสาหกรรมการผลิต ประกอบ และพัฒนาพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2564 แผนนี้จะเป็นกรอบและทิศทางในการทำวิจัย พัฒนา สนับสนุนองค์ความรู้และสร้างศักยภาพให้ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์สำคัญสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นเอง ช่วยลดนำเข้าชิ้นส่วน ปูทางไทยศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรรมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ที่สำคัญในตลาดโลก โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มราว 12.8% ของ GDP แต่อุตสาหกรรมนี้มีการใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อชั้นบรรยากาศค่อนข้างมาก ตั้งแต่การผลิต การใช้งาน จนถึงการทำลายเมื่อหมดอายุ ทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตต้องใช้พลังงานทั้งสิ้น ประกอบกับความไม่มั่นคงของพลังงาน ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์และผู้บริโภคเริ่มสนใจยานยนต์ประหยัดพลังงานเพื่อลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง“ยานยนต์ไฟฟ้า” เป็นยานพาหนะประเภทพลังงานสะอาด สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อย และไม่ปล่อยไอเสียมากขึ้น และเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ของรัฐบาล
อีกทั้ง ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 ประเทศไทยได้แถลงจุดยืนในการประกาศลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2030 โดยอาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการดำเนินงาน มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล เปลี่ยนเป็นใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การมีแผนมุ่งเป้าในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และชิ้นส่วนที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า การคิดค้นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาเพื่อลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง หรือพัฒนาแบตเตอรีที่มีอายุใช้งานได้นาน เพื่อทำให้เกิดอุตสาหกรรมอย่างจริงจังในอนาคต จึงมีความสำคัญ ขณะเดียวกันยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
โดยแผนฯ ดังกล่าวมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและทดลองใช้จริงให้ได้ แบ่งเป็น 4 แผนงานวิจัย คือ 1) ด้านแบตเตอรีและระบบจัดการพลังงาน 2) ด้านมอเตอร์และระบบขับเคลื่อน 3) ด้านโครงสร้างน้ำหนักเบาและการประกอบ ซึ่งจะทำให้น้ำหนักรถเบาลง และ 4) ด้านการพัฒนานโยบาย มาตรฐาน และบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ แผนมุ่งเป้าฯ ดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ที่กำหนดไว้ที่ 1% ของ GDP และเพิ่มขึ้นเป็น 2% ในปี 2564 อีกด้วย
ทั้งนี้ สวทช. จะดำเนินการวิจัยตามแผนมุ่งเป้าฯ นี้ โดยประสานเครือข่ายนักวิจัย ภาคเอกชน และเครือข่ายองค์การบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช) เพื่อเร่งรัดการวิจัยมุ่งเป้าสู่เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรมต่อไป