SME Bankปลื้มหั่นNPLทะลุเป้า
ร่วมสจล.ตั้ง Innovation Center
เอสเอ็มอีแบงก์ปลื้ม ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2559 ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2559 เฉือนตัวเลขเอ็นพีแอลทะลุเป้าที่ 22,000 ล้านบาทตามที่คนร.กำหนด เหลือ 21,076 ล้านบาท ( 23.78% ของสินเชื่อรวม ) ตั้งเป้าสิ้นปี 2559 เหลือไม่เกิน 18,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังโชว์กำไรต่อเนื่อง มีกำไรสุทธิรวม 537 ล้านบาทหรือเฉลี่ย 100-150 ล้านบาทต่อเดือน สร้างความมั่นคงให้กับธนาคารเพื่อสามารถนำกำไรส่วนหนึ่งมาพัฒนาผู้ประกอบการในพันธกิจ SME Development Bank ล่าสุดร่วมสจล.ยกระดับ Co-Working Space เป็น Innovation Center
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)ร่วมแถลงผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ของธนาคาร โดยเปิดเผยว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ธนาคารสามารถลด NPLs ลงมาอยู่ที่ระดับ 21,076 ล้านบาท ( คิดเป็น 23.78% ของสินเชื่อรวม ) ต่ำกว่าเป้า 22,000 ล้านบาท ที่คนร.กำหนด และลดลง 2,376 ล้านบาท จากสิ้นปี 2558 ที่มี NPLs อยู่ที่ระดับ 23,452 ล้านบาท ( คิดเป็น 27.23% ของสินเชื่อรวม ) สาเหตุเนื่องมาจากธนาคารสามารถขายลูกหนี้ให้กับ บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) จำนวน 1,057 ล้านบาท โดยการขายหนี้จะทำในทุก ๆ ไตรมาส และจากการดูแลป้องกันลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้น และทำการปรับโครงสร้างหนี้ได้
“นับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารสามารถทำเป้า NPLs ได้ตามที่คนร.กำหนดและตั้งเป้า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 จะลดNPLs ให้เหลือไม่เกิน 18,000 ล้านบาท” นางสาลินีกล่าว
ขณะเดียวกันเอสเอ็มอีแบงก์ ยังมีผลการดำเนินงานของธนาคาร อยู่ในระดับน่าพอใจ คือ มีกำไรสุทธิของเดือนมีนาคม 195 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรต่อเนื่องจากปี 2558 ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2559 ธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 537 ล้านบาท หรือมีกำไรเฉลี่ย 100-150 ล้านบาทต่อเดือน โดยธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้รวม 9,962 ล้านบาท จำนวน 3,405 ราย เฉลี่ยกู้ต่อราย 2.92 ล้านบาท ในขณะที่มีเป้าการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่คนร.กำหนดคือ 35,000 ล้านบาท และการที่ธนาคารมีผลกำไรต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เท่ากับ 14.34 %
ด้านนายมงคลกล่าวเสริมว่า “ความสำเร็จในการดำเนินงานทั้งด้านการปล่อยสินเชื่อใหม่และNPLs เกิดจากความร่วมมือของเหล่าพนักงานด้วย ซึ่งมีศักยภาพสูง โดยร่วมกันทำงานหลายอย่าง อาทิ ทำให้ในการปล่อยสินเชื่อใหม่มี NPLs อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.2% จากที่กำหนดไม่เกิน 1.5% หรือเฉลี่ยประมาณ 0.9% ต่อปี และจากการที่ธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs) มีความผันผวนสูง รายได้ไม่มาก จะมีหน่วยงานคอยติดตามคุณภาพของลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนลูกหนี้ด้อยคุณภาพขายออกไป ที่อยู่ได้มีการปรับโครงสร้าง สิ่งเหล่านี้ทำให้ฐานะทางการเงินของธนาคารมีความน่าเชื่อถือดีขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลงจาก2.8% ในปี 2558 เป็น 2.1% ในปี 2559”
ในโอกาสเดียวกันนี้เอสเอ็มอีแบงก์ยังประกาศความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) จัดตั้งศูนย์ Innovation Center ด้วย โดยนางสาลินี กล่าวว่า จากการที่ธนาคารจะมีผลกำไรประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี ก็จะแบ่งประมาณ 300-400 ล้านบาทมาพัฒนาผู้ประกอบการตามพันธกิจของธนาคารด้วย ซึ่งจะดำเนินต่อไปอย่างจริงจัง โดยก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารได้เปิด Co-Working Space ณ สำนักงานใหญ่ SME Bank Tower ติดสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการกลุ่ม Startup และล่าสุดจะยกระดับขึ้นมาเป็นศูนย์ Innovation Center โดยร่วมกับทางสจล. ซึ่งศูนย์นี้จะเน้นงานด้านวิศวกรรมและไอทีที่เป็นจุดเด่นของสจล.
“ศูนย์แห่งนี้สามารถเดินทางได้สะดวก มุ่งให้ผู้ประกอบการใหม่หรือStart up มาใช้สถานที่เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ผลิตสินค้านวัตกรรมตามที่ตลาดต้องการและขายได้ โดยทางสจล.จะมีทีมงานมาช่วยเป็นที่ปรึกษาและศูนย์จะมีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ”
นอกจากนี้เอสเอ็มอีแบงก์ยังขยายความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) สนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์นวัตกรรมกลุ่ม Startup จัดการแข่งขัน Contest นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดดำเนินการรับสมัครกลุ่มเป้าหมาย Startup เข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2559 เป็นต้นไป
ในส่วนโครงการร่วมลงทุน ธนาคารได้อนุมัติแล้ว 3 ราย เป็นกิจการ SMEs ขนาดเล็ก เกี่ยวกับเกษตรแปรรูป และในเดือนเมษายนได้ร่วมลงทุนอีก 1 ราย คือ บริษัท หมิ๋ง คอปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มซุปไก่สกัด ภายใต้แบรนด์ หมิ๋ง (Ming) ร่วมลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท และในไตรมาสสอง ยังมีกิจการ SMEs ที่เตรียมพิจารณาเข้าร่วมลงทุนอีก 7 ราย เป็นธุรกิจด้านอาหาร ด้านซอฟต์แวร์ และด้านโลจิสติกส์ โดยคาดว่าปี 2559 ธนาคารจะร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ วงเงินประมาณ 700 ล้านบาท
นอกเหนือจากนี้ทางเอสเอ็มอีแบงก์ยังสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ที่เป็น Social Enterprise ด้วย ในการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการและชุมชนชาวบ้านบริเวณเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ที่ธนาคารจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อปรับปรุงการให้บริการ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นไปสู่การท่องเที่ยวในระดับโลก โดยเน้นใส่ความแตกต่าง พัฒนาให้ชาวบ้านเป็นผู้ประกอบการเชิงคุณภาพ ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เกษตรอินทรีย์ รวมถึงการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวจากอันดามันมาสู่เกาะสมุย อ่าวไทย เป็นการปรับปรุงบริหารจัดการชุมชนโดยรอบ ซึ่งมีธุรกิจแพพักรองรับนักท่องเที่ยว ธุรกิจโดยสารทางเรือ เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มสมาคมส่งเสริมท่องเที่ยวทะเลสาบเชี่ยวหลานด้วย เพื่อให้สามารถบริหารธุรกิจแบบยั่งยืน มีความปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจท่องเที่ยว และเสริมสร้างรายได้ให้ชุมชน การสร้างอาชีพตามวิถีชีวิตของคนพื้นบ้าน และกำลังพิจารณาร่วมลงทุนในที่สุด