สวทช. เสิร์ฟงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง
หนุนต่อยอดธุรกิจเทคโนฯภาคเหนือ
งาน “Thailand Tech Show ครั้งที่ 1/2559 ภูมิภาค จังหวัดเชียงใหม่” เปิดฉากจังหวัดเชียงใหม่แสดงผลงานวิจัยพร้อมใช้จากสวทช. และสถาบันวิจัยชั้นนำมากกว่า 150 ผลงาน ทั้งงานวิจัยกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและประมง วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง การแพทย์ อาหารและเครื่องดื่ม และอื่นๆ พร้อมให้ต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ผู้สนใจสามารถจองใช้สิทธิได้โดยตรงกับเจ้าของผลงาน ค่าธรรมเนียมเพียง 3หมื่นบาท บวกค่าลิขสิทธิ์ 2% ของยอดขาย
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รองผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธานเปิดงาน “Thailand Tech Show ครั้งที่ 1/2559 ภูมิภาค จังหวัดเชียงใหม่” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดยกล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีภารกิจหลักในการวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเสริมศักยภาพ SME ไทยให้เข้มแข็ง กระตุ้นให้เกิดการต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรม นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศชาติต่อไป โดย สวทช. ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรและผู้สนับสนุน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยรวม 19 แห่ง รวมทั้งธนาคารกรุงเทพ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมจัดงาน Thailand Tech Show ครั้งที่ 1/2559 ขึ้น ซึ่งจัดทั้งในส่วนกลางคือ กรุงเทพมหานคร ไปเมื่อวันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นอกจากนี้ยังจัดในส่วนภูมิภาคด้วย โดยนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นที่แรก มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกใช้ขับเคลื่อนผลงานวิจัยที่มีคุณค่าออกสู่เชิงพาณิชย์ ให้ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ได้เข้าถึงได้ง่าย โดยลดขั้นตอนและวิธีการลง เหลือเพียงการหารือและทำสัญญาเลยหากทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน มีค่าธรรมเนียมเพียง 30,000 บาท บวกกับ Royalty Fee 2% ของยอดขายเท่านั้น ซึ่งจ่ายส่วนที่เกินจาก 30,000 บาท
“การจัดงานนี้เป็นกระบวนการที่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ผลงานใดโดนใจให้แสดงความจำนงค์ไว้ งานนี้เป็นเวทีทำให้นักวิชาการ นักวิจัยได้พบกับ SMEs โดยตรง มารับโจทย์โดยตรงจาก SMEs และทำวิจัยร่วมกันหากต้องการปรับปรุงสิ่งใด ช่วยให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง สำหรับครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่จ.ขอนแก่นและสงขลา ในช่วงเดือนพฤษภาคมและเดือนกันยายน”
สำหรับงาน “Thailand Tech Show จากหิ้งสู่ห้าง ครั้งที่ 1/2559 ภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่” มีผลงานวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีพร้อมใช้ หรือพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้สนใจประกอบธุรกิจมากถึง 152 ผลงาน โดยผลงานที่น่าสนใจอาทิ
สูตรตำรับยาสมุนไพรสำหรับแก้ไอ ผลงานของ พท.ธีรวัฒน์ สุดขาว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หรือ มอ. พัฒนาสูตรยาน้ำที่ต้มมาจากสมุนไพร ประกอบด้วย โทงเทง มะแว้งเครือ เสนียด มะขามป้อม ชะเอมเทศ น้ำตาลกรวด น้ำมะนาว น้ำขิง เกลือ และเมนทอล ที่ผ่านกรรมวิธีขั้นตอนต่างๆ ที่ได้ยาน้ำที่ได้จากการต้มสมุนไพร เพื่อจัดทำยาแก้ไอที่ผลิตจากสมุนไพรสูตรใหม่ ที่มีประสิทธิภาพบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ รสชาติดี และไม่มีแอลกอฮอล์และอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย
“การเพิ่มขิงและน้ำมะนาวเข้าไปในส่วนผสมช่วยให้เกิดความชุ่มคอ เหมาะกับผู้เป็นไข้ มีอาการไอ จากการทดสอบจริงพบว่า ผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบว่า สามารถรับประทานได้ง่าย รักษาอาการไอ เจ็บคอ อย่างเห็นได้ชัด เวลานี้ได้ผลิตเพื่อนำใช้จริงที่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยของมหาวิทยาลัย”
นอกจากนี้มอ.ยังนำเสนอผลงานเจลแต้มสิว ที่มีสารแทนนินสกัดจากเบญกานี (ปูดของต้นไม้)ช่วยรักษาแผล สมานแผล รัดหัวสิวให้หายได้เร็ว พร้อมส่วนประกอบจากสมุนไพรเหงือกปลาหมอและขมิ้น,อุปกรณ์ช่วยจับขวดยาและสารทดแทนฟอสเฟต-ไบคาร์บอเนตช่วยส่งเสริมด้านส่งออกกุ้ง ซึ่งผู้ส่งออกนำมาใช้เพื่อทำให้เนื้อกุ้งอุ้มน้ำและมีผิวสัมผัสเต่งตึง แต่ขณะนี้ทางสหภาพยุโรปมีข้อห้ามใช้ไบคาร์บอเนตและจำกัดการใช้ฟอสเฟตเหลือเพียง0. 5% ทางมหาวิทยาลัยจึงพยายามวิจัยพัฒนาสารทดแทนขึ้น
สำหรับผลงานที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ งานด้านศิลปะของมทร.ล้านนา, ผลงานวิจัยมะแตกของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ,งานพัฒนาแอนดรอยด์คัดกรองโรคหัวใจ (มหาวิทยาลัยนเรศวร) เป็นโปรแกรมติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือ เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต สามารถคัดกรองโรคด้วยเสียงหัวใจ ซึ่งการคัดกรองโรคหัวใจ โดยโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ สามารถนำไปใช้งานทุกสถานที่ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ และสามารถคัดกรองผู้ที่มีเสียงหัวใจผิดปกติได้ถูกต้อง 84% ,สูตรลูกชิ้นหมูไหมทองและกรรมวิธีการผลิตตามสูตร (สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ) ลูกชิ้นหมูที่มีรสชาติดีกว่าสูตรเดิมโดยไม่ต้องเติมสารอื่นใดเพื่อให้เนื้อแน่นและกรอบ ทำให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและยังได้คุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น ,สวิตช์สัมผัสจากหมึกนำไฟฟ้า (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) เป็นการออกแบบและประยุกต์ใช้งานสวิตช์แบบสัมผัสด้วยเทคโนโลยี หมึกนำไฟฟ้า มีราคาที่ถูกและสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ
และผลงานอื่น ๆ อีกมากมาย
ส่วนผู้ประกอบการที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้วและบริษัทร่วมวิจัยโดยการสนับสนุนของสวทช.ได้มาร่วมออกบูธแสดงผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน
ผู้สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ในส่วนของรายละเอียดโครงการและข้อมูลเทคโนโลยีต่างๆในงาน ติดตามได้ที่www.thailandtechshow.com