แจงเหตุบ้านทรงไทยโคราชถล่ม
นักวิจัยแนะสำรวจบ้านลดเสี่ยง
สภาวิศวกรและนักวิจัยสกว.สันนิษฐานบ้านทรงไทยถล่มโคราชมาจากการออกแบบที่ไม่ได้เผื่อแรงลมแรงที่เกิดจากพายุ ไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรม หรือข้อต่อเสากับฐานไม่แข็งแรง พร้อมเตือนประชาชนสำรวจโครงสร้างบ้านไม้ หรือบ้านสำเร็จรูปที่ทำจากปูน ให้สำรวจการยึดต่อระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น เสากับคาน หรือเสากับฐานราก ที่อาจเล็กเกินไป จนไม่สามารถต้านแรงลมพายุหรือแรงแผ่นดินไหวได้ ในช่วงไทยมีพายุฤดูร้อนและกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนต่อ
ศ. ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร และนักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงข้อสันนิษฐานสาเหตุที่บ้านทรงไทยพังถล่มเนื่องจากพายุฤดูร้อนที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ว่าอาจจะเกิดได้จาก 3 ปัจจัยได้แก่ 1. ข้อต่อระหว่างเสากับฐานรากอาจไม่แข็งแรงพอ สังเกตได้จากรูปถ่ายฐานเสาที่พัง พบว่าวิธีการเชื่อมต่อระหว่างเสาไม้และฐานคอนกรีต มีระยะฝังเสาไม้ลงไปในฐานคอนกรีตค่อนข้างน้อย และใช้เพียงเหล็กฉากพร้อมสลักเกลียวแค่ 1 หรือ 2 ตัวในการยึดเสากับฐานรากปูน อาจไม่เพียงพอต่อการต้านแรงลม
2. แรงลมที่เกิดจากพายุฤดูร้อนมีค่าสูงกว่าแรงดันลมทั่วไป ซึ่งตามปกติแล้วค่าแรงดันลมสำหรับการออกแบบอาคาร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 กำหนดไว้ที่ 50 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่สำหรับลมพายุฤดูร้อนอาจมีแรงดันลมสูงถึง 100-200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ดังนั้นบ้านไม้ซึ่งโดยทั่วไปมีน้ำหนักเบาอยู่แล้ว อาจจะไม่สามารถต้านแรงลมพายุฤดูร้อนซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าลมพายุปกติถึง 2-4 เท่าได้ และ 3. การออกแบบอาคารอาจจะไม่ได้คำนวณเผื่อแรงลมพายุฤดูร้อน หรืออาจไม่ได้มีการออกแบบอาคาร หรือการก่อสร้างอาจไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรม
ทั้งนี้ ศ. ดร.อมร ได้กล่าวเตือนว่า โครงสร้างบ้านที่ก่อสร้างจากไม้ หรือบ้านสำเร็จรูปที่ทำจากปูน หากการยึดต่อระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น ระหว่างเสากับคาน หรือระหว่างเสากับฐานราก รวมถึงการใช้ชิ้นส่วนอาคารที่เล็กเกินไปอาจไม่สามารถต้านแรงลมพายุหรือแรงแผ่นดินไหวได้ ซึ่งบ้านที่พังถล่มลงมาอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ และหากเจ้าของอาคารมีข้อสงสัยในเรื่องความมั่นคงของอาคาร ควรติดต่อสอบถามวิศวกรโครงสร้างเพื่อขอคำแนะนำต่อไป
“ในช่วงนี้ประเทศไทยมีพายุฤดูร้อนและกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนต่อไป จึงขอเตือนให้ประชาชนสำรวจบ้านเรือนที่สร้างด้วยไม้หรือบ้านสำเร็จรูปจากปูน ว่ามีความเสี่ยงตามที่กล่าวมาหรือไม่ เพื่อทำการเสริมโครงสร้างตามจุดเสี่ยง เช่น ข้อต่อต่าง ๆ ให้แข็งแรงและปลอดภัยมากขึ้น” ศ. ดร.กล่าวสรุป