ม.อ.หาดใหญ่เปิดเทคนิคไม่อ้วน
งาน “สุดสัปดาห์สู้ภัยอ้วนครั้งที่1”
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดสัมมนา “สุดสัปดาห์ สู้ภัยอ้วน ครั้งที่ 1” ให้ความรู้ เทคนิคทำอย่างไรไม่ให้อ้วนที่ได้ผลและปลอดภัย นำคนไข้จริง แชร์ประสบการณ์ โดยมี รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข จากหลายจังหวัดและผู้ป่วยโรคอ้วน ที่มาร่วมรับฟังความรู้ในครั้งนี้ ชี้อ้วน เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคข้อเข่าเสื่อมและหยุดหายใจขณะหลับ
รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์
นพ.กำธร ยลสุริยันวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านศัลยกรรมผ่าตัดส่องกล้อง และศัลยกรรมโรคอ้วน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า โรคอ้วนนับเป็นโรคร้ายที่ส่งผลเสีย เเละเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคข้อเข่าเสื่อม ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ เป็นต้น ด้วยเห็นถึงความสำคัญของโรคอ้วน ภาควิชาศัลยศาสตร์ อายุรศาสตร์ จิตเวชศาสตร์ หน่วยโภชนาการ และหน่วยกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงร่วมมือกันจัดงานสัมมนาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องโรคอ้วนแก่บุคลากร แกนนำชุมชน ผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคอ้วน ให้เข้าถึงข้อมูลและวิธีการรักษาอย่างถูกต้องและปลอดภัย
โดยภายในงาน “สุดสัปดาห์ สู้ภัยอ้วน ครั้งที่ 1” ก็มีการบรรยายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องอาหารโรคอ้วน รู้หมดแต่อดไม่ได้ โดย คุณพรพิศ เรืองขจร , การบรรยายเรื่อง ออกกำลังกาย กันมั้ย โดย คุณกาญจนนี สิริกรกุล และคุณปัตตาเวีย ปุญญะเพ็ชร , การบรรยายเรื่อง อารมณ์ สำคัญไฉน โดย นพ.วรุตม์ อุ่นจิตสกุล และไฮไลน์เด็ด คือการบรรยาย เรื่อง ผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ปลอดภัยกว่าที่คิด โดย นพ.กำธร ยลสุริยันวงศ์ และ นพ.สิริพงศ์ ชีวธนากรณ์กุล พร้อมมีกิจกรรมการทำเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ทำเองได้ ง่ายกว่าที่คิด จากทีมโภชนการ มีคุณพัคจิรา เบญจาปัญญา เป็นผู้สอน
นางสาวพรพิศ เรืองขจร นักโภชนาการกล่าวว่า สำหรับเรื่องโภชนการแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคงจะเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนนิสัยดั้งเดิม หากมีการทานในปริมาณมากๆ และ บ่อย ก็มีโอกาสที่จะอ้วนขึ้นได้ง่ายๆ ดังนั้น จึงต้องมีวิธีการใหม่ มาปรับใช้ เพื่อให้คนอ้วน หรือผู้ป่วยโรคอ้วน มีการรับประทานอาหารที่เหมาะสมถึงจะเป็นการลดความอ้วนที่ดี มีข้อมูลที่น่าสนใจคือผู้ป่วยโรคอ้วน ที่สามารถ งด การรับประทานน้ำตาลทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ชานม น้ำอัดลม น้ำตาลที่ใช้ในการเติมในอาหาร หรือแม้แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ ภายใน 1 เดือน จะสามารถลดน้ำหนักได้มากถึงประมาณ 1 – 3 กิโลกรัมเลยทีเดียว
ด้านนางสาวกาญจนนี สิริกรกุล กล่าวถึงการออกกำลังกายของคนอ้วนว่า ในส่วนของการการออกกำลังกายของที่เป็นโรคอ้วนนั้น เพียงแค่เพิ่มกิจกรรมที่ทำให้ขยับร่างกายมากขึ้น อย่างเช่นการทำงานบ้านและให้การออกกำลังกายแล้วแต่คนชอบ ก็เพียงพอแล้ว เช่น ชอบปั่นจักรยาน ชอบว่ายน้ำ รวมไปถึง การเดินง่าย ๆ ใช้เวลายาวนานอย่างเหมาะสม หรืออย่างน้อย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะช่วยผู้ป่วยโรคอ้วนได้เป็นอย่างมาก เทคนิคสำคัญการออกกำลังกายให้ได้ผล ใช้หลักการง่ายๆ กิน เท่ากับออกกำลังกาย จะได้รูปร่างเท่ากับเท่าเดิม ถ้าอยากลดลงต้องควบคุมอาหารและการออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน
นพ.วรุตม์ อุ่นจิตสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยถึงความรู้สึกคนอ้วนว่า คนอ้วนก่อนจะมาเจอหมอจะกังวลเรื่องภาพลักษณ์ เพราะเป็นปมด้อยทำให้ไม่มั่นใจในตนเอง ในบางรายจะมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย และมีปัญหาเรื่องวิธีการแก้ปัญหา เช่น เวลาเครียดก็จะกิน อย่างนี้ไม่เหมาะสม ถ้ามาหาหมอ หมอก็จะแนะนำให้ออกไปหาเพื่อน ไปเดินเล่น เป็นต้น อีกอย่างที่สำคัญคือเรื่องแรงจูงใจจะเป็นอะไรที่หนักใจมากกว่า เพราะถ้าหากผู้ป่วยโรคอ้วนเข้ารับการผ่าตัด แต่หลังผ่าแล้วไม่ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็คงจะไม่ดีแน่ หมอจะพูดคุยเรื่องของ สิ่งที่เขาต้องการที่จะแก้ปัญหาในระยะยาว จะโซลูชั่นโฟกัส ว่า อะไรจะทำให้เขาเปลี่ยนไปด้วยแรงจูงใจ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด เพื่อให้การรักษาได้ผลที่สุด
นพ.กำธร กล่าวเสริมว่า การให้ความรู้ในวันนี้ เป็นช่องทางในการไม่ให้เกิดผู้ป่วยโรคอ้วน และช่วยให้ผู้ป่วยโรคอ้วนได้มีเทคนิคและกำลังใจในการลดน้ำหนัก แต่หากผู้ป่วยลดน้ำหนักด้วยวิธีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายไม่สำเร็จ ก็จะมีทางเลือกทางอื่น ๆ อาทิ การผ่าตัดในการรักษาโรคอ้วน ซึ่งมีหลักการสำคัญง่าย ๆ คือทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ร่างกายดูดซึมพลังงานจากอาหารได้น้อยลง ให้ร่างกายจำเป็นต้องนำไขมันส่วนเกินออกมาใช้ เพื่อเป็นพลังงานแก่ร่างกายให้เพียงพอ ซึ่งการผ่าตัดนั้น จะสามารถทำได้หลัก ๆ 3 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดรัดกระเพาะอาหาร โดยนำห่วงมารัดกระเพาะอาหารส่วนต้นให้อาหารผ่านเข้าสู่กระเพาะได้ช้าลง จะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ทานอาหารได้น้อยลง คนไข้จะค่อย ๆ ผอมลง
- การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร คือการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะให้เหลือเพียงท่อขนาดเล็ก ทำให้คนไข้อิ่มเร็วขึ้น ทั้งยังช่วยลดฮอร์โมนกระตุ้นความหิว
- การบายพาสลัดทางเดินอาหาร หรือการตัดต่อลำไส้ ทำโดยการตัดกระเพาะอาหารส่วนต้นมาต่อเข้าโดยตรงกับลำไส้เล็กเลย ทำให้อาหารลัดผ่านกระเพาะอาหารไปย่อยที่ลำไส้เล็กส่วนล่าง ร่างกายจึงดูดซับพลังงานจากอาหารได้น้อยลง ช่วยให้นำไขมันส่วนเกินออกมาใช้เป็นพลังงานแก่ร่างกายได้เร็วขึ้น
แม้ว่าการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน จะดูค่อนข้างน่ากลัว แต่การผ่าตัดทั้งหมดสามารถทำได้โดยการส่องกล้อง ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลกว้างเหมือนการผ่าตัดทั่วไป และการผ่าตัดดังกล่าวนั้น มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามการลดความอ้วนด้วยวิธีการธรรมชาติ ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดน้ำหนัก ซึ่งนอกจากจะไม่ต้องกังวลกับภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดแล้ว การลดน้ำหนักด้วยตนเอง ยังเป็นการเสริมสร้างวินัย และยังช่วยให้สุขภาพกาย สุขภาพจิตแข็งแรงอีกด้วย
แน่นอนว่า การรักษามีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่วิธีมาตรฐานคือวิธีที่ได้บอกไป ในอนาคตจะมีวิธีเพิ่มอีกแต่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย รอดูผลว่าวิธีใหม่ๆ ว่าจะได้ผลมากกว่าเดิมหรือไม่ สำหรับในอนาคตก็อาจจะมีแนวโน้ม นำวิธีการใหม่ๆ มาปรับใช้กับคนใช้ที่เหมาะสม
ด้าน นพ.สิริพงศ์ ชีวธนากรณ์กุล ให้ข้อมูลที่น่าสนเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาคือ การดูแลคนไข้แบบองค์รวม จะเห็นว่า ที่ ม.อ.จะมีผู้เชี่ยวชาญ ทีมหมอ ทีมพยาบาล และบุคลากรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ช่วยกันดูแลผู้ป่วย ไม่ใช่แค่ขั้นตอนการผ่าตัดแต่รวมไปถึงขั้นตอนทั้งก่อนผ่าตัด การปรับพฤติกรรม และหลังผ่าตัด การทำกายภาพ การออกกำลังกาย เป็นต้น การเป็นโรคอ้วนจะทำให้เรามีโอกาสเป็นอีกหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน หัวใจ โรคตา มะเร็ง ยิ่งถ้ามีประชากรอ้วนอยู่เยอะจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ตามสถิติตอนนี้ คนอ้วนจะมี 1 ใน 10 ของคนทั่วไปแล้วด้วย
นางสาวมีนา ทองวงศ์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญแผนกให้คำแนะนำก่อนหลังทำหัตถการ ว่า เมื่อมาถึงขั้นตอนการรักษา ในส่วนตัวของเอง พยาบาลเอง จะถูกคาดหวังจากคนไข้ว่าจะเป็นคนที่ถามได้ทุกเรื่อง และหน้าที่ของพยาบาลจะต้องประสานงานกับทุกส่วนเพื่อให้คนไข้ได้รักษาอย่างเต็มที่ พยาบาลต้องทำทุกอย่างประสานงานให้คนไข้ประสบความสำเร็จในการรักษาและการดูแลตัวเอง ทั้งก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด ต้องให้คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดมาตรวจตามนัด เพื่อความปลอดภัย และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่คนไข้
การจัดงานครั้งนี้ มีผู้ป่วยโรคอ้วนหลายคนมาร่วมแชร์ประสบการณ์ตั้งแต่ตอนอ้วนสุดจนได้เข้ารับการผ่าตัด และกลับมามีรูปร่างที่เป็นปกติ คุณโอ๊ด หนุ่มอ้วนอดีตเจ้าของน้ำหนัก 170 กิโลกรัม รับการผ่าตัดจนปัจจุบันเหลือเพียง 90 กิโลกรัม และที่ไฮไลน์เรียกเสียงฮาและเสียงชื่นชมจากผู้ร่วมสัมมนาเป็นอย่างมากคือ คุณโหน่ง ผู้ที่เป็นโรคอ้วนจนเดินไม่ได้ น้ำหนักเยอะสุด 214 กิโลกรัม เข้ารับการผ่าตัด ปัจจุบันน้ำหนัก 115 กิโลกรัม คุณโหน่งเล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นคนจังหวัดกระบี่ นิสัยเป็นคนอารมณ์ดี ไม่เครียดกับชีวิต สาเหตุที่อ้วนเลยคือพฤติกรรมการกิน ทานเยอะมาก ไม่ได้ออกกำลังกาย จนเริ่มอ้วนขึ้นเรื่อย ๆ อยากจะมารักษาแต่เดินไม่ได้ เคยหมดหวังมาแล้ว จนมาวันนึง ได้เห็นกระดาษที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรักษาของคุณหมอ กำธร จึงได้โทรหา นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเลย
“ใจคิดเลยอยากทำเพื่อลูก เพราะลูกของตน ไม่เคยบ่นน้อยใจเรื่องความอ้วนของพ่อเลย เลยอยากมีชีวิตอยู่เพื่อลูก ในหัวอกความเป็นพ่ออยากมีชีวิตเพื่อที่จะได้ดูแลเขา” คุณโหน่งกล่าวและว่า เมื่อได้เข้ารับการรักษา ก็ปฎิบัติตามขั้นตอนที่คุณหมอ และพยาบาลแนะนำทุกอย่าง จนน้ำหนักลดลงมาได้ถึงขนาดนี้มาถึงตรงนี้ ผู้ป่วยโรคอ้วนหลายคนคงจะกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายกันแล้ว บอกได้เลยสำหรับคนที่รักษาโรคอ้วนนั้น จะสามารถใช้สิทธิ์ที่ตนมีอยู่ก่อนได้อย่างเต็มที ไม่ว่าจะเป็น ประกันสังคม สิทธิ์เบิกตรงของข้าราชการ เป็นต้น โดยสามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่ก่อนได้เลย แต่หากใครไม่มีสิทธิอะไรเลยก็จะมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดโรคอ้วนโดยมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
นพ.กำธร กล่าวปิดท้ายว่า การจัดงาน “สุดสัปดาห์ สู้ภัยอ้วน” จะมีการจัดอีกแน่นอน แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบงาน ครั้งหน้าอาจจะเจาะกลุ่มมากขึ้น หรืออาจลงไปที่กลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพราะเป็นกลไกสำคัญที่คนจะเข้าถึงข้อมูล และเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ผ่าตัดโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้จัดโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่เข้าเกณฑ์ในการผ่าตัด โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการผ่าตัด (รับจำนวนจำกัด)
สำหรับผู้สนใจปรึกษาเรื่องโรคอ้วน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คลินิกศัลยกรรมโรคอ้วน โทรศัพท์ 074- 451-760 -1 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-16.30 น. และวันเสาร์ เวลา 9.00-12.00 น.