อพท. น่าน เร่งสร้างแบรนด์ “เมืองเก่ามีชีวิต” ชมวัฒนธรรม
สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เดินหน้าโครงการสรรค์สร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยว (Brand Image) ของพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ชู “เมืองเก่าที่มีชีวิต” หรือ Living Old City ต่อเนื่อง เน้นรูปแบบของ Creative Tourism หรือ ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สร้างภาพลักษณ์สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรมดั้งเดิมของคนเมืองน่าน ต่อยอดความสำเร็จในปี 2558 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวมากกว่า 90% ประทับใจจดจำอัตลักษณ์ดั้งเดิมของเมืองน่าน ทั้งวิถีชีวิต การแต่งกายนุ่งผ้าซิ่น ใส่บาตรตอนเช้าและนั่งสามล้อชมเมือง
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ในปี 2559 นี้ อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ได้ดำเนินโครงการสรรค์สร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยว (Brand Image) เมืองเก่าน่าน ในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน โดยต้องการสื่อสารให้นักท่องเที่ยวจดจำภาพลักษณ์พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ว่า เป็น “เมืองเก่าที่มีชีวิต” (Living Old City) หลังจากในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างการรับรู้และจดจำได้แก่นักท่องเที่ยวได้ถึงร้อยละ 91.73 และเพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จดังกล่าว จึงดำเนินโครงการสรรค์สร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยว (Brand Image) เมืองเก่าน่าน ต่อเนื่องในปี 2559 นี้ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ได้ดำเนินการจัดแผนกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ในลักษณะเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเมืองน่านกับนักท่องเที่ยวในรูปแบบของCreative Tourism หรือที่เรียกว่าการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้มีการรักษาขนบธรรมเนียมอัตลักษณ์และประเพณีดั้งเดิมของชาวน่าน โดยให้นักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศหลายๆ จังหวัด มาชื่นชมกิจกรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หรือมาใช้ชีวิตเหมือนคนเมืองน่าน มานุ่งผ้าซิ่น หรือฝึกเขียนอักษรคนเมืองน่าน(ตั๋วเมือง) ฝึกการทำตุงบูชาพระ มาลองหัดทอผ้าฝ้าย นั่งสามล้อชมเมือง หรือตื่นแต่เช้ามาใส่บาตรตอนเช้า นักท่องเที่ยวสามารถขี่จักรยานชมเมืองตามแผนที่ ที่ อพท. จัดไว้ให้
ซึ่งการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ เป็นการช่วยสังคมสะท้อนมิติของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก การท่องเที่ยวน่านในวันนี้ ไม่ต้องการเพิ่มเติมตัวเลขนักท่องเที่ยวให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเดียว แต่ต้องการให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโครงสร้างทางสังคมของคนเมืองน่านไว้ ทั้งด้านขนบธรรมเนียม อัตลักษณ์ประเพณีที่ดีงามต่างๆ จึงมีการพัฒนาให้มีการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์เกิดขึ้น
ดร.ชุมพล กล่าวต่อว่าในปัจจุบันการจะมาเที่ยวเมืองน่านนั้น สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล แต่ในฤดูร้อน อากาศค่อนข้างจะร้อนมาก ส่วนในช่วงฤดูฝน นักท่องเที่ยวจะได้เห็นความเขียวชอุ่มของทุ่งนาทิวเขา และธรรมชาติ หรือจะแวะไปชมฟาร์มเห็ด ไร่กาแฟ ก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างไปจากการท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว ที่นักท่องเที่ยวมักจะเที่ยวชมเมืองน่านเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
สำหรับการสร้างแบรนด์ของเมืองน่านในปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยพยายามเน้นให้เห็นถึงความสำคัญทั้งสองด้าน ได้แก่ 1.ให้คนในชุมชนเมืองได้เห็นความสำคัญของเมืองเก่าที่มีชีวิตมีความสำคัญอย่างไร 2.สิ่งที่นักท่องเที่ยวมาแล้วคาดหวังได้จากเมืองเก่าน่าน ได้แก่ ได้ชื่นชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม โดย อพท. ได้ร่วมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหลายแห่ง เช่น ตึกรังษีเกษม เป็นตึกเก่า 160 ปี ของโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา ซึ่งได้จัดสร้างเป็นหอประวัติศาสตร์น่านคริสเตียนศึกษา มีรูปภาพประวัติศาสตร์น่าน วัตถุโบราณต่างๆ เช่น ขวานหิน ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้ชมมากมาย
เมืองแห่งคุ้มเจ้าเมืองน่าน ที่มีสภาพสมบูรณ์ถึง 3 แห่ง เป็นสถาปัตยกรรมที่หาชมได้ยาก ได้แก่ โฮงเจ้าฟองคำ คุ้มเจ้าราชบุตร คุ้มเจ้าเมฆวดี เป็นต้น อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ยังคงสนับสนุนความเป็นอัตลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นโดยให้การสนับสนุนปรับปรุงภูมิทัศน์ให้กับหน่วยงานหลายแห่งโดยจัดทำรั้วปล่องไข่ ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของน่านและอัตลักษณ์เมืองน่าน เพื่อความสวยงามและแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน
นอกจากนี้เมืองน่านยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่รู้จักกันดี อย่างเช่น วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง วัดมิ่งเมือง วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดภูมินทร์ ที่มีอายุนับร้อยปีแต่และยังคงเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมประเพณีทางศาสนาจนปัจจุบัน
ด้านสินค้าศิลปวัฒนธรรมหรือสินค้าพื้นเมืองน่าน เช่น ผ้าทอลายบ่อสวก ผ้าซิ่นลายน้ำไหล เครื่องเงิน อาหารพื้นเมืองน่าน เช่น ไส้อั่วน่าน ไก่ทอดมะแขว่น มะไฟจีน ข้าวหลาม และลูกต๋าว เหล่านี้ล้วนยังคงเป็นวัฒนธรรมเดิมที่มีชีวิตจากอดีตถึงปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวยังสามารถมาสัมผัสและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมของเมืองน่านให้คงอยู่ต่อไป